กลับกลายเป็นว่า จนถึงวันนี้ สองพรรคหลัก ในฐานะ "ขั้วตรงข้าม" ทั้ง"เพื่อไทย" และ "พลังประชารัฐ" ยังไม่ยอมเปิดเผยโฉมหน้าของแคนดิเดตผู้ที่จะเป็น "นายกรัฐมนตรี" ในนามของพรรค ต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนออกมาได้ มีเพียงแต่การคาดการณ์จาก"คนใน-คนนอก" เท่านั้น ที่ผุดเป็นกระแสระลอกแล้ว ระลอกเล่า
จริงอยู่แม้ตามกระบวนการขั้นตอนการที่พรรคการเมืองจะต้องเสนอชื่อ ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ของพรรคภายในวันเปิดรับสมัคร ส.ส. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเอาไว้คือในระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ กำลังกลายเป็นความ "ไม่ชัดเจน"ที่นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรภายในสองพรรค กันแน่ !
สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้นแน่นอนว่าบรรดาแกนนำจากกลุ่มก๊วนในพรรคที่พากันยกพลไปเดินสายปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ ย่อมต้องการชู "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นแคนดิเดตเบอร์ 1 อย่างตรงไปตรงมาเพื่อหวังที่จะกวาดคะแนนนิยมในแต่ละพื้นที่ สู้กับกระแสของพรรคเพื่อไทย
ที่นำเสนอ "ชัชชาติสิทธิพันธุ์" แกนนำพรรค และ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค
นอกจากนี้ ยังต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ว่าที่ผู้สมัคร และแกนนำพรรคเพื่อไทยต่างพากันหยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียงควบคู่ไปกับการเสนอนโยบายและทางออกจากปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนแล้ว คือกระแสของ"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ซึ่งยังมีบทบาททั้งต่อพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ในฐานะพรรคสาขาของเพื่อไทยยิ่งทำให้การทำงานของพรรคพลังประชารัฐ เองต้องพยายามชู "บิ๊กตู่"เพื่อหวัง "ฝ่ากระแส" ของ "ทักษิณฟีเวอร์" ให้ได้มากที่สุดอย่างไรก็ดี เมื่อมองกลับไปยังที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองวันนี้ยังไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธ ว่าจะตอบรับเป็นแคนดิเดตให้กับพลังประชารัฐ หรือไม่มิหนำซ้ำยังส่งสัญญาณให้ว่าที่ผู้สมัครระมัดระวังการนำนโยบายของรัฐบาลไปใช้หาเสียงในพื้นที่อีกด้วย
และเมื่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ทางการเมืองออกมาอย่างชัดแจ้ง กลับมีความเคลื่อนไหวที่ทับซ้อนขึ้นมาใหม่ นั่นคือการผุดชื่อ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตอันดับสอง และ "อุตตม สาวนายน" หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตอันดับสาม นั่นหมายความว่า เวลานี้ พลังประชารัฐกำลังมี "แผนสำรอง" เสนอทางเลือกใหม่ให้เป็นตัวเลือกที่ไม่ได้จอดป้ายสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างนั้นหรือ ?
ขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง เวลานี้ทั้งชัชชาติ และคุณหญิงสุดารัตน์ ต่างออกมาเล่นบทประนีประนอม ต่างออกมาสนับสนุนอีกฝ่ายว่ามีความเหมาะสมในฐานะตัวแทนพรรค อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำว่าไม่มีความขัดแย้งภายในพรรคตามที่มีข่าว
แต่ถึงกระนั้นจนถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยเองก็ยังไม่มีมติออกมาอย่างเป็นทางการว่าที่สุดแล้วใครคือเบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทย ทว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยเองย่อมหวั่นไหวว่า "ว่าที่นายกฯ" ของพรรคจะอยู่รอดปลอดภัยไปจนถึงวันเลือกตั้งโดยไม่ช้ำในไปเสียก่อน เพราะการเปิดตัวเร็ว ย่อมไม่ต่างไปจากการเปิดจุดอ่อนจน "ตายก่อนโต" และหากแคนดิเดตเบอร์หนึ่ง เป็นชัชชาติ ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่า แล้วทำไมคุณหญิงสุดารัตน์ต้องออกตัวสนับสนุนชัชชาติ โดยที่ตัวเองไม่ได้อะไร?
สถานการณ์ที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐ กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้จึงเป็นเสมือนการทับซ้อนทั้งปัญหาความขัดแย้ง ความไม่ลงตัวควบคู่ไปกับการช่วงชิง ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง กันอย่างเข้มข้น !