รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของสถาบันศิโรจน์ผลพันธินแห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิตช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2568 ผ่านปาฐกถาพิเศษศิโรจน์ผลพันธินครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” มีเป้าหมายเพื่อให้สถาบันฯเป็นศูนย์กลางการพัฒนาผู้นำทางการศึกษาที่มีภารกิจหลักในการสร้างผู้นำแห่งอนาคตด้วยการผสานแนวคิดการบริหารที่ทันสมัย โดยสถาบันศิโรจน์
ผลพันธินมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและนำพาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทันสถานการณ์

โลกที่หมุนเร็วขึ้นด้วยนวัตกรรม ความไม่แน่นอน และการแข่งขันระดับโลก บทบาทของมหาวิทยาลัยไม่อาจจำกัดอยู่แค่การผลิตบัณฑิตหรือเป็นคลังความรู้แบบดั้งเดิม สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องลุกขึ้นมารับบทเป็น "ผู้นำทางความคิด" (Thought Leader) ที่สามารถเชื่อมโยงวิชาการเข้ากับการแก้ปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างเวที “ประชุมนานาชาติ” ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่กำลังได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิผลในยุคสมัยใหม่นี้ การจัดการประชุมนานาชาติเป็นการแสดงศักยภาพ และที่สำคัญเป็นเครื่องมือเชิง
กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสถาบันศิโรจน์ผลพันธินให้ก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านการพัฒนาผู้นำระดับโลกและภูมิภาค การประชุมนานาชาติจะนำมาซึ่งประโยชน์และผลกระทบที่วัดได้ในหลายมิติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การสร้างเครือข่ายผู้นำระดับโลก การจัดการประชุมนานาชาติโดยสถาบันศิโรจน์ผลพันธินจะเป็นสะพานเชื่อมโยงสำคัญของเครือข่ายผู้นำทางการศึกษาระดับโลก ผู้เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจะนำแนวคิดและนวัตกรรมใหม่มาแบ่งปัน ในขณะเดียวกัน "Sirote's Model for University Quality Integration"  ที่มาของสถาบันศิโรจน์ผลพันธินที่ได้รับการยอมรับ จะได้รับการทดสอบและปรับปรุงจากมุมมองสากล การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แบบสองทิศทางนี้จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน การค้นพบโอกาสวิจัยใหม่ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน

การยกระดับมาตรฐานการศึกษา การประชุมนานาชาติจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในหลายมิติ ข้อมูลและแนวโน้มใหม่ที่ได้จากการประชุมจะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานระดับโลก การมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะช่วยให้หลักสูตรมีมาตรฐานสากล อาจารย์ที่เข้าร่วมการประชุมจะได้รับมุมมองใหม่และเครื่องมือการสอนที่ทันสมัย ส่งผลให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

การบูรณาการ ESG และ SDGs การประชุมนานาชาติจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการหารือเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่ออุดมศึกษาโลก เช่น การบูรณาการแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) และ SDGs (Sustainable Development Goals) เข้าไปในทุกมิติของการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้สถาบันมีบทบาทในการร่วมกำหนดมาตรฐานและแนวทางการพัฒนาผู้นำทางการศึกษาในระดับสากล

การเสริมสร้างภาพลักษณ์ระดับสากล การเป็นเจ้าภาพหรือเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมนานาชาติจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของสถาบันศิโรจน์ผลพันธินในหลายแง่มุม การจัดการประชุมที่ประสบความสำเร็จจะทำให้สถาบันกลายเป็นชื่อที่นักวิชาการระดับโลกรู้จักและให้การยอมรับ ชื่อเสียงที่ดีจะช่วยดึงดูดอาจารย์และนักวิจัยชั้นนำจากทั่วโลกให้มาร่วมงานกับสถาบัน ขณะเดียวกันจะเพิ่มโอกาสในการได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การจัดการประชุมนานาชาติจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในหลายระดับ ผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศจะใช้จ่ายในด้านที่พัก อาหาร การเดินทาง และการซื้อของที่ระลึก ก่อให้เกิดรายได้สำหรับชุมชนท้องถิ่น การมีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางทางการศึกษาจะจูงใจนักท่องเที่ยวเชิงวิชาการและการลงทุนในอนาคต ประสบการณ์ที่ได้จากการจัดการประชุมนานาชาติจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติอื่นๆ

การสร้าง Legacy ที่ยั่งยืน การจัดการประชุมนานาชาติของสถาบันศิโรจน์ผลพันธินที่จะสร้าง Legacy ที่สำคัญ ตั้งแต่การเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับ Sirote's Model การประชุมจะทำให้แบบจำลองนี้ได้รับการทดสอบและพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง การประชุมจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนผู้นำทางการศึกษาที่ใช้หลักการของ Sirote's Model ในการบริหารสถาบันของตน

ความท้าทายสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจอันลึกซึ้งเกี่ยวกับบริบทวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้เข้าร่วมการประชุม การจัดการความคาดหวังที่แตกต่างกัน และการแปลงความรู้ที่ซับซ้อนให้เป็นรูปธรรมที่นำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ การแข่งขันกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจากทั่วโลกในการกระตุ้นความสนใจของนักวิชาการระดับโลกก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องเผชิญเช่นกัน

สำหรับผลงานเชิงประจักษ์ของสถาบันศิโรจน์ผลพันธินกับการประชุมนานาชาติ ณ วันนี้ คือ หนึ่งในเจ้าภาพร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษครั้งที่ 9 (ISSED 9 - The 9th International Symposium on Special Education Life Transitions: Learning, Living and Working for Children with Special Needs) และร่วมกับสวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศเรื่อง “การศึกษาพิเศษในสายตาคนไทย” ที่ปรากฏสู่สายตาประชาคมนานาชาติที่เข้าร่วมประชุมนี้ช่วงวันที่ 11-13 มิถุนายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต แล้วครับ...