ทวี สุรฤทธิกุล
หลัง 24 มีนานี้น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง
ในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่มองหา “สิ่งดีๆ” ในทางการเมืองไทย ผู้เขียนไม่ค่อยจะพอใจกับ “วิธีคิด” ในการตัดสินใจของผู้คนจำนวนมากเท่าไรนักเมื่อมีการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ที่แต่ละคนก็คิดแต่การได้คนมาเป็น ส.ส. แล้วมาหานายกรัฐมนตรี แล้วสิ้นสุดที่การจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้ “ก้าวไกล” ไปกว่านั้น โดยเฉพาะการจัดการกับ “ตัวปัญหา” ซึ่งที่มองเห็นชัดเจนที่สุดก็คือ “รัฐธรรมนูญ”
วิธีที่จัดการกับปัญหานี้ก็คือ “การทำประชามติผ่านกระบวนการเลือกตั้ง”
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ แต่มีเพียง 6 ฉบับที่กำหนดให้มีการทำประชามติ คือฉบับ พ.ศ. 2492 ฉบับ พ.ศ. 2511 ฉบับ พ.ศ. 2517 ฉบับ พ.ศ. 2540 ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 และฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยสามฉบับแรกและสองฉบับหลังกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ยังไม่เคยลงประชามติในเรื่อง “สำคัญ” อันใด และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 แม้ว่าจะผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่ก็เป็นการทำประชามติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่ออกมามาเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้เท่านั้น
สำหรับผลการออกเสียงประชามติก็ “น่ากังวล” ยิ่ง เพราะมีถึง 24 จังหวัดที่คะแนนผู้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีมากกว่าผู้ที่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 15 จังหวัดในภาคอีสาน 6 จังหวัดในภาคเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้มาลงคะแนนออกเสียงประชามติทั่วประเทศ 29,740,677 คน คิดเป็นร้อยละ 59.40 จากผู้มีสิทธิทั้งประเทศ 50,071,589 คน ซึ่งผู้ที่รับร่างรัฐธรรมนูญมี 16,820,402 คน คิดเป็นร้อยละ 61.35 และผู้ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมี 10,598,037 คน คิดเป็นร้อยละ 38.65
นั่นแสดงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มี “ปัญหาในใจประชาชน(จำนวนมาก)” และเป็นเป้าหมายของพรรคการเมืองบางพรรคที่ประกาศออกมาแล้วว่า ถ้าชนะเลือกตั้งได้เป็นเสียงข้างมากจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน แต่การแก้ไขตามกระบวนการนิติบัญญัตินั้นกระทำได้ยากยิ่ง
“ค่ายกล” ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 “ซ่อนเงื่อน” ไว้ก็อยู่ในมาตรา 256 เริ่มจาก ผู้ที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีแค่คน 4 กลุ่ม คือ หนึ่ง คณะรัฐมนตรี สอง ส.ส.จำนวน 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร สาม ส.ส.และ ส.ว.รวมกันเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา และสี่ ประชาชน 50,000 คน โดยจะมีการพิจารณาเป็นสามวาระ วาระแรกที่รับหลักการว่าจะให้แก้ไขเสนอร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาได้หรือไม่นั้นจะต้องใช้คะแนน 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา โดยขานเรียกชื่อให้ลงมติทีละคน ในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จากนั้นจึงจะเข้าสู่วาระที่สอง โดยในวาระที่สองนี้จะมีการพิจารณารายมาตรา และต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกของทั้งสองสภาด้วยเสียงข้างมากทุกมาตรา เมื่อพิจารณาหมดทุกมาตราแล้วก็ต้องทิ้งระยะไว้ 15 วัน ก่อนที่จะไปลงมติกันในวาระที่สามเพื่อให้การแก้ไขได้รับการอนุมัติจากสภา ซึ่งในวาระนี้ก็ต้องทำแบบเดียวกันกับการลงมติในวาระที่หนึ่ง คือต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา และให้ลงมติโดยการขานชื่อทีละคน แต่ที่ยุ่งยากขึ้นไกว่านั้นก็คือ ในวาระนี้ผู้ที่ลงคะแนนเห็นชอบให้แก้ไขจะต้องประกอบด้วย ส.ส.ที่อยู่ในพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้เป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (คือเป็นฝ่ายค้านนั่นแหละ) เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของ ส.ส.ในฟากฝ่ายนี้ ร่วมกับ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เช่นเดียวกันกับวาระที่หนึ่ง จากนั้นก็ต้องรอไว้อีก 15 วัน ก่อนที่จะทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
แม้ว่าการแก้ไขด้วยกระบวนการนิติบัญญัติที่เรียกว่าเป็นแนวทางนิติศาสตร์นั้นจะยุ่งยากจนแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ในทางรัฐศาสตร์ก็ยังมีทางออกให้สำหรับคนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อยู่ และน่าจะเป็นวิธีที่อาจจะใช้เป็น “ไม้ตาย” ในการเอาชนะได้ทั้งการขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งรัฐบาลนั้นด้วย นั่นก็คือ การเสนอนโยบายในการหาเสียงว่า “เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่นี้ “มีปัญหาอะไร” เช่น เอาเปรียบนักการเมือง(ซึ่งก็หมายถึงเอาเปรียบตัวแทนของประชาชน) ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างเพียงพอ เป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ และเป็นเผด็จการ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากพรรคที่ใช้นโยบายนี้หาเสียงได้ ส.ส.เข้ามาเป็นเสียงข้างมาก รวมทั้งสามารถมารวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาหลังการเลือกตั้งนั้นได้ ก็มีย่อมมี “ความชอบธรรม” ที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ได้ หรืออาจจะเสนอร่วมกันกับประชาชนอีก 50,000 คน เพื่อสร้าง “พลังร่วม” และ “ความชอบธรรมทวีคูณ” ให้แก่การดำเนินการในเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็ได้อีกด้วย เช่นเดียวกันกับที่อาจจะมีการขอประชามติผ่านการลงคะแนนเสียงของประชาชนนี้ว่า “ไม่เอานายกฯคนนอก” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นด้วย
แค่นี้ก็สามารถเปลี่ยน “เผด็จการ” ให้เป็น “ประชาธิปไตย” ได้