ข่าวการเปิดใจของดาราสาว พรทิพย์ สกิดใจ ว่าตรวจพบมะเร็งปอด สร้างแรงสะเทือนในโลกออนไลน์ไม่ใช่เพียงเพราะชื่อเสียงในวงการบันเทิง หากแต่เป็นเพราะประเด็นที่มีการสื่อสารถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งปอด

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ “มะเร็งปอด” ไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ไม่สูบบุหรี่ก็สามารถป่วยได้ โดยเฉพาะในกรณีของพรทิพย์ที่แพทย์ระบุว่าเป็นมะเร็งปอดชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงเอเชียที่ไม่สูบบุหรี่ อาจมีปัจจัยจากพันธุกรรมหรือมลภาวะ เช่น ฝุ่น PM2.5 ที่เข้าไปกระตุ้นยีนผิดปกติบางชนิดในร่างกาย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การตรวจพบมะเร็งในระยะต้นนี้ คือการตรวจด้วย CT Scan แบบ Low-dose ซึ่งมีความแม่นยำสูงกว่าการเอกซเรย์ปอดธรรมดา โดยในรายของดาราสาวพบก้อนเนื้อขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งที่เงาหัวใจบังมิด ทำให้การเอกซเรย์ปกติไม่สามารถเห็นได้ชัด

นี่เป็นสิ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเคยเตือนว่า การพึ่งพาเพียงการเอกซเรย์ปอดในการตรวจสุขภาพประจำปีอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่มลพิษสูง

นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้โพสต์ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก “หมอเจด” ถึง 10 ข้อเท็จจริงที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มความเข้าใจ แต่ยังช่วยกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 1.ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้ 2. เอกซเรย์ปอดธรรมดาอาจไม่พอ 3. มะเร็งปอดมักไม่มีอาการจนกว่าจะลุกลาม 4. ไอเรื้อรัง เสียงแหบ น้ำหนักลดเร็ว ต้องรีบพบแพทย์

5.PM2.5 และควันจากการทำอาหาร เพิ่มความเสี่ยงฝุ่น PM2.5 และ ควันจากการทอดอาหาร 6. มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย 7. ตรวจคัดกรองเร็ว รักษาได้ไว 8. ผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยง โดยเฉพาะคนในเมือง 9. สิ่งของในบ้านที่เสี่ยงก่อมะเร็งปอดและ 10.อย่ารอให้คนดังเป็นก่อน ถึงจะดูแลตัวเอง

กรณีตัวอย่างของ พรทิพย์ ถือเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดของสังคมไทย แม้จะโชคดีที่ตรวจพบในระยะแรก  หากแต่เป็นอุทาหรณ์ให้กับทุกคนได้ดูแลและใส่ใจสุขภาพของตนเอง ก่อนจะสายเกินไป

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยเกิดกรณีของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล ที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งที่เป็นคนชอบออกกำลังกาย และเสียชีวิตในที่สุด