ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ท่านผู้อ่านที่เคารพรักครับ เมื่อเดือนก่อนผมมีโอกาสได้ไปบรรยายเรื่องกองทัพแห่งโลกอนาคต ณ สถาบันแห่งหนึ่ง ซึ่งในงานนั้นผมได้พูดถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ได้มีการศึกษาคุณลักษณะที่ควรจะเป็นของกำลังพลของกองทัพยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับได้ว่าการศึกษาในลักษณะดังกล่าวมีนัยที่น่าสนใจอย่างมากหลายประการ วันนี้จะมาเล่าให้ได้อ่านกันครับ
อันดับแรก ผมขอพาทุกท่านไปดูแผนภาพนี้กันก่อนครับ
ภาพจาก ‘The pholosophy of Be, Know, and Do in forming the 21st – centiury military war-front competencies: a systematic review’ โดย Sangwan and Raj (2021)
จากภาพเราจะเห็นได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปศักยภาพของทหารออกเป็นสามก้อนใหญ่ๆ ได้แก่ Be หรือ “เป็น” Know หรือ “รู้” และ Do หรือ “ทำ” ซึ่งหมายความว่า ทหารนั้นจะต้องเป็นอย่างไร? รู้อะไร? และ ทำงานอย่างไร? นั่นเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทั้งสามสิ่งนั้นมีความเชื่อมโยงกันเป็นใยแมงมุมที่ซับซ้อนอย่างมาก เรียกได้ว่า ทักษะในด้านต่างๆนั้น ต่างมีการ overlap กันในตัวเอง และเมื่อรวมทั้งหมดแล้ว นี่คือสมรรถนะที่จำเป็นของทหารในศตวรรษที่ 21 เพื่อความพร้อมในการรับมือกับปัญหาความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา
ในด้าน Be หรือ “ทหารควรเป็นอย่างไร?” นั้น ทหารจำเป็นต้องมีคุณลักษณะทางทหาร มีความรักชาติ มีความรับผิดชอบต่อทั้งตนเองและส่วนรวม มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ มีความสามารถในการปรับตัวและคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เป็นต้น
ในด้าน Know หรือ “ทหารควรรู้อะไร?” นั้น ทหารจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในด้านการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) คือต้องคิดเป็น ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีความสามารถในการเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย และแน่นอนต้องมีความรู้และทักษะทางการทหารและการรบ
ส่วน Do หรือ “ทหารควรทำงานอย่างไร?” นั้น ทหารจำเป็นต้องทำงานเป็นทีมให้ได้ และสร้างความร่วมมือกับทั้งองค์กรภายในและภายนอก มีความสามารถในการสื่อสารต่อทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ที่กล่าวมาเป็นเพียงการสรุปแบบย่อมากๆให้ท่านผู้อ่านเท่านั้น แต่จริงๆทั้งสามด้านยังมีทักษะและสิ่งจำเป็นอีกมากมายที่ถูกมองว่าควรจะเป็นคุณสมบัติของทหารในยุคใหม่
สิ่งที่น่าสนใจและน่าคิดตามมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ครับ ทักษะต่างๆเหล่านี้ หากมองเผินๆ เราอาจจะคิดว่านี่คือทักษะที่ควรมีสำหรับ “ผู้บริหาร” ใช่ไหมครับ? สิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้น ถ้าในบ้านเราก็ยังคงเป็นตัวชี้วัดของการพัฒนา “ผู้นำ” ขององค์กรกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้นถูกมองว่าควรจะเป็นทักษะ “พื้นฐาน” สำหรับทหาร “ทุกชั้นยศ” ไม่ใช่แค่ระดับผู้บริหารครับ
นี่เป็นทักษะที่ต้องมีตั้งแต่ “พลทหาร” ไปจนถึง “พลเอก”
เราจึงเห็นได้ว่า แม้แต่กองทัพที่มีพลังอำนาจสูงสุดในโลกอย่างสหรัฐ ก็ยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวของกำลังพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้มีความพร้อมในการทำงานรับมือกับภัยคุกคามที่พัฒนาไปรายวัน
จากข้อมูลข้างต้น พลทหารไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ “รับคำสั่ง” อีกต่อไป แต่ต้อง “คิดเป็น” “ริเริ่มเป็น” และยังต้อง “สื่อสารเป็น” อีกด้วย
ย้อนกลับมาสู่ประเทศไทยของเรา วันนี้โดยมากเมื่อพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ เรามักมองกันไปที่เชิงโครงสร้างและปริมาณเสียเป็นหลัก ข้อเสนอต่างๆจึงออกมาในมิติของการลดขนาดกองทัพบ้าง ลดกำลังพลบ้าง แต่กลับขาดจิ๊กซอว์สำคัญไปหนึ่งชิ้น นั่นคือมิติของการ “พัฒนาศักยภาพ” นั่นเอง
หรือนี่ต่างหากอาจเป็นโจทย์ใหม่ที่เหมาะสมกับการปฏิรูปกองทัพ...ฝากไว้ให้คิดครับ
เอวัง