เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

อุดมศึกษาที่ผูกติดกับอาชีพบ้านเรามีอยู่แล้วแต่ไม่มาก อย่างคณะแพทย์ พยาบาล กับโรงพยาบาล วิศวกรรมศาสตร์กับสถานประกอบการ หรือที่ภาคธุรกิจตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนทำงานไปด้วย

เป็นเทรนด์ระดับโลกในด้าน “การศึกษาที่เน้นอาชีพ (Career-integrated Higher Education)” หรือ “Work-integrated Learning (WIL)” ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลก (เช่น Waterloo ในแคนาดา, Aalto ในฟินแลนด์, หรือบางแห่งในเยอรมนี) ใช้แนวทางนี้เชื่อมโยงผู้เรียนกับตลาดแรงงานอย่างแท้จริงตั้งแต่วันแรก

หลักการในการจัดการศึกษาที่ผูกกับอาชีพ คือ หลักสูตรต้องออกแบบร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ โดยให้ “ผู้ประกอบการ” เข้ามาออกแบบเนื้อหา การประเมิน และกิจกรรมภาคสนาม

มีระบบสหกิจศึกษา การฝึกงานที่บังคับ นักศึกษาทุกคนต้องทำงานในภาคสนามทุกปี เช่น ปีละ 3 เดือน มีการประเมินร่วมกันระหว่างอาจารย์กับผู้ว่าจ้าง

ผู้เรียนได้ทำงานจริงตั้งแต่ปีแรก ใช้โมเดล “เรียน 3 วัน ทำงาน 2 วัน” หรือ “เรียนทฤษฎี 6 เดือน ทำงาน 6 เดือน”  เหมือนช่างฝีมือ สายวิชาชีพในยุโรป โดยผู้ว่าจ้างมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ ให้ภาคธุรกิจร่วมสัมภาษณ์คัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน ร่วมประเมินผลตอนจบหลักสูตร รับเข้าทำงานต่อเลยเมื่อเรียนจบ

อาจารย์ต้องมีประสบการณ์ภาคสนาม ต้องมีทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจมาสอนร่วมกัน โดยสร้างตำแหน่ง “อาจารย์” ให้ เรียกอย่างไรให้เหมาะสม

อาจออกแบบให้เป็นมหาวิทยาลัยแนวอาชีพ ตั้งศูนย์ความร่วมมือกับอุตสาหกรรม (Industry Learning Hub) ร่วมกับสถานประกอบการต่าง ๆ

นี่เป็นแนวคิดใหม่ที่เรียกกันว่า “มหาวิทยาลัยพันธมิตร” (Ecosystem-based University Model) ที่มีแนวคิดหลักคือ ไม่ใช่แค่ไปฝึกงาน แต่ร่วม “เรียน-วิจัย-พัฒนา” ไปกับองค์กรเป้าหมาย  องค์กรเหล่านั้นไม่ใช่แค่ผู้รับ แต่เป็น “เจ้าของร่วม” (co-owner) ของหลักสูตร หรือของหน่วยวิจัย 

อาจารย์ของมหาวิทยาลัยสามารถทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรนั้นแบบต่อเนื่อง  องค์กรสามารถขอสนับสนุนทุน-ทีมวิจัย-บุคลากร-สื่อสารแบรนด์ ผ่านความร่วมมือนี้

ตามโมเดลของเยอรมนี องค์กรร่วม (partner) หรือพันธมิตรจะลงทุนใน “คณะ” หรือ “หลักสูตร” โดยตรง บริษัทอาจมีสิทธิ์เสนอผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอาจารย์ ตั้งหัวข้อวิจัย หรือคัดเลือกผู้เรียนบางส่วน ผู้เรียนสามารถ “เลือกเส้นทาง” ที่จะทำงานกับองค์กรนี้ในอนาคต

หรือส่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยไป “ประจำอยู่ในองค์กรพันธมิตร” เพื่อทำงานร่วมกับทีมองค์กรจริง ถ่ายทอดเทคโนโลยี พานักศึกษาเข้าไปเรียนรู้หรือไปฝังตัวในบริษัทหุ้นส่วน

มีมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการ “ผูกการศึกษาเข้ากับอาชีพ” อย่างเป็นระบบ โดยมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจอย่างลึกซึ้ง มีโครงสร้างที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริงตั้งแต่ต้น

มหาวิทยาลัยระดับโลกที่ใช้โมเดล “การศึกษาเพื่ออาชีพ” อย่างจริงจังมีหลายแห่ง  เช่น มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู แคนาดา ที่เป็นต้นแบบของระบบ Co-op Education ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  นักศึกษาเกือบทุกคนต้องเรียนสลับกับการฝึกงานในบริษัทจริง  มีพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมกว่า 7,000 แห่งทั่วโลก  นักศึกษาจะจบพร้อมประสบการณ์ทำงานจริง 2 ปี  ตัวอย่างบริษัทที่ร่วม เช่น Google, Amazon, Microsoft, Deloitte

บริษัทเหล่านี้ร่วมออกแบบหลักสูตรโดยตรง ร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

Duale Hochschule Baden-Württemberg (DHBW) เยอรมนี จับมือกับบริษัทเป็นเจ้าของหลักสูตรร่วมกัน นักศึกษาเรียน 3 เดือน และทำงานกับบริษัทพันธมิตร 3 เดือน สลับกันตลอดหลักสูตร บริษัทที่ร่วมจะรับผิดชอบค่าเล่าเรียน + ค่าจ้างรายเดือน  เป็นโมเดลผสมผสาน “มหาวิทยาลัย + บริษัท” อย่างเต็มรูปแบบ

โดยบริษัทต้องมีใบอนุญาตในการ “เป็นสถานที่เรียนรู้” ผู้เรียนเหมือน “พนักงานฝึกหัด” แต่จบมาได้วุฒิการศึกษาปกติ  ที่ Baden-Württemberg มี “เครือข่าย” สถาบันนี้อยู่ 12 แห่งกระจายทั่วแคว้น

Aalto University (ฟินแลนด์) มหาวิทยาลัยนวัตกรรมที่รวม 3 สถาบันเข้าด้วยกัน: วิศวกรรม, ธุรกิจ, ศิลปะ มีโครงการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้นักศึกษาร่วมพัฒนาโครงการกับบริษัทจริงตั้งแต่ชั้นปีแรก หลายหลักสูตรมีโครงงาน ที่ทำให้กับองค์กรจริง มี “อาจารย์จากภาคอุตสาหกรรม” มาร่วมสอนตลอด

Singapore Institute of Technology (SIT) มหาวิทยาลัยที่ให้ “ฝึกงานแบบเต็มเวลา” นักศึกษาทุกคนต้องทำงานในบริษัท 8-12 เดือนแบบฝังตัว บริษัทพันธมิตรมีส่วนร่วมประเมินผลงานนักศึกษา  เน้นสาขาเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรม, โลจิสติกส์, พลังงาน, เทคโนโลยีอาหาร นักศึกษาทุกคนฝึกงานแบบได้ค่าจ้างจริง มีหลักสูตรพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางร่วมกับบริษัทโดยตรง

ที่บ้านเราก็มีการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาในลักษณะนี้เหมือนกัน แต่ในแวดวงจำกัด อย่างซีพี มีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือมหาวิทยาลัยราชมงคลและวิทยาลัยอาชีวะหลายแห่ง

หรือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับ Harbour.Space University บาร์เซโลนาที่ผสมผสานการเรียนการสอนที่มีการเน้นทักษะและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ากับการทำงานในอุตสาหกรรมจริง

ปัญหาสำคัญของการจัดการศึกษาที่ผูกติดกับอาชีพของบ้านเรา คือ อาจารย์และนักศึกษาที่ต้องปรับ “ไมน์เซต” ปรับทัศนคติการเรียนการสอน “แบบรับ” ไปเป็น “แบบรุก” ที่ต้องสร้างความรู้ใหม่ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ไม่เอาแต่ท่องหนังสือไปสอบ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ สร้างนวัตกรรม ทำ “startup”

ปัญหาสำคัญกว่านั้น คือ รัฐบาลไทยไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีเจตจำนงทางการเมืองเรื่องการศึกษา จึงไม่มีงบประมาณให้จัดการศึกษาเช่นนี้ สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเพียง “เด็กมาฝึกงาน”

การศึกษาไทยจึงทำกันไปตามมีตามเกิด เรียนจบก็ตกงาน สถานประกอบการก็ขาดแรงงานที่มีทักษะ ต้องเสียเวลาฝึกงานอีกนานกว่าจะทำงานเป็น

บรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ด้านไอที เอไอ จึงไปลงทุนที่มาเลเซีย เวียดนาม เพราะมีแรงงานที่มีทักษะ ทักษะที่ไม่ได้มาจากการ “ท่องหนังสือ” แต่จากการฝึกฝนในภาคสนามและประสบการณ์จริง