สถานการณ์การเมืองที่มีการต่อรองกันอย่างหนัก จนอาจนำไปสู่การแตกหักของพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบกับการทำนิติสงครามจากทั้งจากศึกนอกและศึกในกันเอง ทำให้สถานการณ์การเมืองเหมือนจะเดินไปสู่ทางตันหรือเดดล็อก  ทำให้มีการพูดถึงอำนาจนอกระบบหรือทางอื่นนอกกติกา

ในกิจกรรมรำลึก 33 ปีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภา 2535 ว่า แม้บางเรื่องจะดูดีขึ้น แต่หลายเรื่องกลับเกิดซ้ำ และแม้เข้าสู่ปี 2568 แล้ว ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่า รัฐประหาร การล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือการนองเลือด จะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะเราไม่รู้ว่าจะผิดซ้ำอีกกี่ครั้ง พร้อมแสดงความหวังว่า เหตุการณ์เช่นนั้นจะหมดไป

นายปริญญา กล่าวว่า ต้องช่วยกันไม่ให้ประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ประชาธิปไตยเห็นต่างได้ แต่ต้องขัดแย้งกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ล้มล้างกัน เหมือนการแข่งขันกีฬา ที่ต่างฝ่ายต่างลงสนามตามกติกา ใครชนะก็เป็นรัฐบาล ใครแพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งควรประสบความสำเร็จหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ไม่ควรล้มเหลวซ้ำอีก

เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันจะนำไปสู่เหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า หากดูจากรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา กองทัพไม่ได้ออกมายึดอำนาจได้ง่าย ๆ เหมือนก่อน แต่เพราะถูกกระตุ้นจนออกมา

ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างพรรคสีต่าง ๆ นายปริญญาย้ำว่า ไม่ว่าจะสีแดง สีน้ำเงิน สีส้ม หรือสีเขียว ต่างก็เปรียบเหมือนกีฬา ต้องเล่นตามกติกา เช่นเดียวกับฟุตบอลหรือมวย แข่งกันในระบบประชาธิปไตย และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินทุก 4 ปี หรือเมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในกรอบของกติกา

ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง และตั้งคำถามถึงระบบการเมืองไทยว่า ทำไมจึงต้องเดินวนกลับไปสู่การรัฐประหารอยู่ซ้ำๆ พร้อมชี้ว่า ความเสียหายที่มากกว่าความรุนแรงทางกายภาพ คือ "ความศรัทธา" ของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองและระบบรัฐสภา

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 80% เลือกพรรคที่ไม่ได้มาจากมรดกของ คสช. ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบันควรสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมฝากถึงนักการเมืองทุกพรรคให้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และยึดหลักประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เราต้องติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจจะลงเอยอย่างไร โดยที่ประชาชนต้องรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเบี้ยให้ฝ่ายใดใช้เป็นบันไดสู่อำนาจ