รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ตามที่สถาบันศิโรจน์ผลพันธินแห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้จัดกิจกรรม “ปาฐกถาพิเศษศิโรจน์ผลพันธิน” ครั้งที่ 1 หัวข้อ “บทบาทอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” เมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาแล้ว โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) อดีตเลขาธิการ UNCTAD และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นองค์ปาฐก ปรากฏว่าเนื้อหาบรรยายมีประเด็นเชิงนโยบายที่ลึกซึ้งและครอบคลุมไม่น้อยกว่า 10 ประเด็น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนา “คน” ให้มีศักยภาพและสมรรถนะพร้อมสำหรับการแข่งขันในยุคที่หาความแน่นอนไม่ได้ ดังเช่นระเบียบโลกที่ถูก “เขย่า” โดยประเทศที่เป็นผู้กำหนดระเบียบโลกขึ้นเองจนนำไปสู่ความระส่ำระสายทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งกรณีนี้ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศไทยเช่นกัน
การที่ประเทศไทยจะรับมือได้ดีและทันท่วงที และอยู่รอดบนกติกาใหม่ของโลกที่ถูกเซตขึ้น น่าจะยังไม่สายเกินที่จะใช้ “การศึกษา” เพื่อสร้างคนและผู้นำให้มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง เฉลียวฉลาด และมีคุณสมบัติในการตอบโต้และเจรจาต่อรอง เพื่อไม่ให้ประเทศเสียสูญและเติบโตต่อไปในอนาคต เมื่อหันมาพิจารณา 10 ประเด็นเชิงนโยบายและแนวคิดที่ “ภาคการศึกษา” สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศุภชัย ก็นับว่าเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การพัฒนาการศึกษาปฐมวัย ควรเน้นความสำคัญของการศึกษาขั้นปฐมวัยเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณลักษณะพื้นฐานสำคัญ 3 ประการให้กับเด็กไทย คือ การปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีงาม การรู้จักควบคุมอารมณ์ และการรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เจมส์ แฮคแมน ได้พิสูจน์แล้วว่าการศึกษาระดับปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะช่วยลดช่องว่างที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมตั้งแต่เกิดมา
ประเด็นที่ 2 การเพิ่มองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และศีลธรรมในหลักสูตร โดยการเปลี่ยนแนวคิดจาก STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) เป็น STEAM โดยเพิ่ม A (Arts/ศิลปะ) และควรบูรณาการจริยธรรม (Ethics) เข้าไปในหลักสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา การศึกษาต้องควบคู่ทั้งมนุษยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ การศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อผลิตคนที่ดี รักษากฎระเบียบ ศีลธรรม และเห็นใจเพื่อนร่วมโลก
ประเด็นที่ 3 การสร้างศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ควรจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเชื่อมโยงสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การมีศูนย์ความเป็นเลิศเป็นการกระตุ้นการวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งอาจศึกษาตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้และดึงคนเก่งทั่วโลกมาร่วมงาน
ประเด็นที่ 4 การพัฒนาผู้นำที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างผู้นำที่มีทั้ง "Leadership Quality" และเป็นผู้นำที่มีความเข้าใจบริบทโลก ความแตกต่างระหว่างการเป็นผู้นำกับการมีคุณสมบัติของผู้นำเป็นสองสิ่งที่หายากในบุคคลคนเดียวกัน องค์กรหลายแห่งมักได้คนที่มีความสามารถมาเป็นผู้นำ แต่ไม่มีคุณสมบัติของผู้นำ คุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่ดีและต้องมีคือ "ความรู้ คุณธรรม ความสามารถ ความรู้สึกห่วงใย และความเห็นอกเห็นใจ"
ประเด็นที่ 5 การผสมผสานความรู้กับประสบการณ์จริง ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน การทำงานภาคสนามจริง และสนับสนุน "Gap Year" เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์โลกกว้าง การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงว่าเป็นสิ่งที่ประเทศตะวันตกทำได้ดี เมื่อเด็กกลับมาเรียนต่อก็จะสามารถเลือกวิชาหรือทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น กลายเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า
ประเด็นที่ 6 การศึกษาตลอดชีวิต ส่งเสริมแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก และพัฒนาหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น เด็กที่เริ่มต้นเรียนมหาวิทยาลัยปีแรกในปี 2568 กว่าเด็กจะจบอีกสี่ปีหรือห้าปีอะไร วิชาที่เรียนมาจะล้าสมัยแล้ว การเรียนการสอนหนังสือสมัยนี้ต้องไม่ “Fixed” แต่ต้องสอนเด็ก “Flexible" ที่สำคัญต้องตระหนักว่าการศึกษาตลอดชีวิตไม่ใช่เพียงคำขวัญแต่เป็นความจำเป็น
ประเด็นที่ 7 การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการศึกษา หลักสูตรการศึกษาควรเน้นเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน การล้มแล้วลุกให้เร็วหรือความยืดหยุ่นทนทาน (Resilience) และผสมผสานศาสตร์พระราชากับการศึกษาสมัยใหม่ โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและไม่แน่นอนการศึกษาต้องสร้างคนที่มีภูมิต้านทาน รู้จักเดินสายกลาง และรู้จักคิดวิเคราะห์ ซึ่งก็คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทโลกปัจจุบัน
ประเด็นที่ 8 การจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกือบจะมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ยิ่งมีดิจิทัล
ไลเซชั่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งขยายมาก การจัดตั้งกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทผ่านระบบการศึกษา เป็นประเด็นที่ภาคการศึกษาต้องเร่งดำเนินการและทำทั่วประเทศ
ประเด็นที่ 9 การปรับตัวรับกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของโลก เวลานี้คือช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของโลก ภาคการศึกษาต้องเตรียมผู้เรียนให้เข้าใจบริบทโลกที่ซับซ้อน เช่น สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและความเข้าใจวัฒนธรรมนานาชาติ
ประเด็นที่ 10 การเชื่อมโยงสถาบันการศึกษากับภาคส่วนอื่นๆ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจและชุมชน พร้อมทั้งสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Public Discourse) ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นต้องทำตลอดเวลา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องออกสัมผัสกับโลกข้างนอก ถ้าสอนอย่างเดียวก็จะสัมผัสโลกไม่ได้ ต้องมีการค้นคว้าวิจัยควบคู่ไปกับเรียนรู้
การศึกษาเป็นกระบวนการระยะยาวที่ต้องการความต่อเนื่องเกินกว่ารัฐบาลหนึ่งหรือรัฐมนตรีหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เน้นความสำคัญของการพัฒนาคนและการศึกษา ซึ่งดร.ศุภชัย เน้นย้ำว่า "ประการที่หนึ่งการศึกษา ประการที่สองการศึกษา และประการที่สามก็การศึกษา...เพราะว่าการศึกษาจะทำให้รับมือกับโลกที่เอาแน่นอนไม่ได้
ส่งท้ายครับ เพื่อเป็นการสานต่อประเด็นเชิงนโยบายและแนวคิดที่ “ภาคการศึกษา” สามารถนำไปปฏิบัติจริง สถาบันศิโรจน์ผลพันธินแห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กำหนดจัด SPI Impact Pathway: Panel Discussion on “The Role of Thai Higher Education in National Development.” วันพฤหัสบดีที่ 19 มิ.ย. 2568 เวลา 13.30 - 15.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารสนม. ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย
สวนดุสิต โปรดติดตามกันต่อไป ขอบคุณครับ...