สถาพร ศรีสัจจัง
“วัฒนธรรมกำหนดคุณภาพประชากร” เป็นวาทกรรมเชิงสรุป เป็นความคิดรวบยอด หรือ เป็น “คำหลัก” หรือ “คำสำคัญ” (Key word)ในการอธิบายสังคมของ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ นักวิชาการร่วมสมัยคนสำคัญ ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ เมืองสงขลา สถาบันที่ “เคย” เป็นต้นแบบสำคัญยิ่งขององค์กรวิชาการด้านวัฒนธรรมของรัฐที่ครบวงจร
ความคิดรวบยอดดังกล่าว ได้จากการประมวลสรุปประสบการณ์ชีวิตของคนที่มาจากชาวบ้านฐานราก(Root class)ของสังคมไทยแท้ๆ และจากประสบการณ์ของคนคนหนึ่งในวงวิชาการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งจนได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์ระดับ 11” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในระบบราชการไทย
ที่กล่าวว่า “ประสบการณ์ชีวิตของคนที่มาจากชาวบ้านฐานราก” ก็เพราะท่านเป็นลูกชาวนาแท้ๆจากบ้านตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ใช้ชีวิตจริงอยู่ที่นั่นตั้งแก่เกิดจนเรียนจบชั้นม.6 (ยุคเก่า) ใครที่อยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตท่านให้มากกว่านี้ ก็สามารถเปิด “ออนไลน์” เข้าไปถาม “อากู๋” (Google) ดูได้ด้วยตัวเอง
แต่ถ้าอยากลงให้ลึกจริงๆ แนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ “รอยเลือดและคราบน้ำตา ในเส้นทางชีวิตของสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ซึ่งเป็นหนังเชิง “อัตชีวประวัติ” ที่มีคุณค่าน่าอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่งของเมืองไทย หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดพิมพ์แล้วรวมหลายครั้ง
จากประสบการณ์ที่หลอมขึ้นเป็นองค์รวมทางความรู้และความคิดดังกล่าว ศาสตราจารย์
สุธิวงศ์ เมื่อครั้งได้รับยกย่องเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ด้านสังคมศาสตร์ เมื่อพ.ศ.2540 ซึ่งมีผู้เขียนบันทึกถึงงานในฐานะนั้นของท่านไว้ตอนหนึ่งว่า
“…สร้างนักวิจัยและงานวิจัยที่ทรงคุณค่าหลายโครงการ เช่น โครงการ “โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา” (พ.ศ.2540 : สร้างงานวิจัยในโครงการกว่า 20 ชื่อเรื่อง/สร้างนักวิจัยคุณภาพเกือบ 30 คน),โครงการ “แผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้ : ฐานเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรม” และโครงการ “ภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม” (พ.ศ.2544-2547 : สร้างงานวิจัยมากมายหลายสิบเรื่อง/นักวิจัยมากกว่า 70 คน) เป็นต้น…”
ได้ “แปร” แนวคิด “วัฒนธรรมกำหนดคุณภาพประชากร” เป็นหนังสือเล่มเล็กๆที่สำคัญขึ้นเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มนั้นชื่อ “ทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์”!
เป็นการสถาปนา “ทฤษฎี” การวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่อาจถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรมทางวิชาการ” ที่โดดเด่นสำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่งให้สังคมไทย เหมือนกับเมื่อครั้งที่ท่านได้สถาปนา “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” ขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2523
ที่ว่า “โดดเด่นสำคัญยิ่ง” ก็เพราะ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆอีกครั้งหนึ่งในวงวิชาการเมืองไทย โดยนักวิชาการไทย ที่สามารถ “คลอด” สิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎี” ที่เกิดจากครรโภทรแห่งภูมิปัญญาแท้ๆ
ของสังคมไทยเอง!
เป็นการสร้าง “เครื่องมือทางวิชาการ(Academic)” เพื่อเข้าถึงความจริงทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า "Methodology" หรือ "วิธีวิทยา" ในภาษาไทย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นักวิชาการชั้นนำด้านการศึกษาของสังคมไทย ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ซึ่งเป็นองค์กรจัดพิมพ์
หนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ได้เขียนสรุปถึงความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า :
“ทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ นำเอาพุทธวิถี อันเป็นปรัชญาสูงสุดของพระพุทธศาสนา เรื่องวิถีทางบรรลุพระโพธิญาณ(มรรควิธีการรู้แจ้ง) มาปรับใช้เป็นวิธีวิทยา ในการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยใช้ปัจจัยในอดีตกาล(บุพเพนิวาสนานุสติญาณ)เป็นเครื่องหยั่งรู้อนาคตกาล และใช้หลักกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น โยนิโสมนสิการ เป็นระเบียบวิธีสาวหาเหตุของผลที่ปรากฏ ใช้หลักปัญจมหาวิโลกนะ เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ตัวแปรหลักและตัวแปรรอง เป็นต้น
เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ฝังลึกอยู่ในวิถีและวิธีคิดของคนไทยอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 2,000 ปี ทฤษฎีทางพระพุทธศาสนาจึงซึมแทรกอยู่ในวัฒนธรรมชุมชนไทย ทั้งที่เป็นวรรณคดีทางพุทธศาสนา ศาสนธรรม ศาสนพิธี …การใช้ทฤษฎีตามแนวทางพุทธศาสนา จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะหยั่งเห็นปรากฏการณ์ที่เป็นพลังและบุคลิกภาพของ'ความเป็นไทย'ที่แท้จริง…”
ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ เขียนถึงเหตุในการสร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้ไว้ตอนหนึ่งใน"คำนำผู้เขียน"(ในการพิมพ์ครั้งที่ 1)ว่า :
"…พบว่าไม่มีสิ่งอื่นใดจะเหมาะที่จะเป็นทางชี้นำ(มรรค) อันจะเป็นหิตานุหิตประโยชน์ต่อนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ของไทย สำหรับนักศึกษาคนไทยและสังคมไทยเกินกว่าพุทธศาสตร์ จึงเลือกเฟ้นและประมวลสิ่งที่ได้จากการเหลียวหลังไปพบในส่วนเสี้ยวของวรรณคดีพุทธศาสนา แล้วเก็บมาให้ “กัลยาณมิตร” พิจารณา
สิ่งที่เก็บมาได้ล้วนเป็นเพชรที่เจียระไนมานานกว่า 100 ปี จนถึงกว่า 2500 ปี ใครจะเห็นเป็นคร่ำหรือครึก็แล้วแต่วิสัย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า สิ่งนี้แวววาวเหนือกว่ารังสีทางสังคมศาสตร์ที่ทอรัศมี
มาจากทิศตะวันตก ทั้งมั่นใจว่า จะไม่เป็นมลพิษกับโลกตะวันออก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในภูมิภาคส่วนนี้มาแต่ต้น”