เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ขายไม่ออก และราคาตกต่ำเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศไทย การผลิตไม่มีการวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พึ่งพาตลาดสดหรือพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ขาดนวัตกรรมในการแปรรูปหรือบริหารจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการใส่ใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังยั่งยืนจากรัฐบาล ที่ขาดเจตจำนงทางการเมือง ขาดวิสัยทัศน์ มีแต่มาตรการการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอุดหนุนระยะสั้น อย่างข้าวก็จำนำ หรือประกันราคา ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานจริง
รัฐบาลคิดไม่ออกก็บอกประชาชนกินผลไม้ให้มาก เพื่ออุดหนุนเกษตรกร มาตรการที่เด็กประถมก็คิดได้ ผู้ใหญ่พูดแบบนี้ถือว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด” แต่ก็ไม่เคยรอดทั้งรัฐบาลและเกษตรกร (เหมือนยุคหนึ่งที่อดีตนายกฯ บอกว่า อาหารแพงก็ซื้อโครงไก่มาต้ม หรือเหมือนโฆษณาเด็กยุคหนึ่ง “น้ำมันแพงก็เดินเอา”)
ถ้าจะแก้ปัญหาที่ฐานรากและมีผลระยะยาวและยั่งยืน ต้อง “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างระบบ” แต่รัฐบาลทุกยุคก็ไม่ทำเพราะ “นาน” เกินไป และ “กินคำใหญ่” ไม่ค่อยได้
ถ้ามียุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจังย่อมจัดตั้งระบบ “ฐานข้อมูลผลผลิต” แบบเรียลไทม์ รวมข้อมูลว่าช่วงใด จังหวัดใด ปลูกพืชอะไร ปริมาณเท่าไร ใช้เทคโนโลยี AI/Big Data วิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าและแนะนำเกษตรกรให้ปรับแผนการปลูก ไม่ปล่อยตามบุญตามกรรม ตามดินฟ้าอากาศ
ส่งเสริมเกษตรตามแผน (Contract Farming + Smart Farming) ภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตตามสัญญากับภาคเอกชน แต่ด้วยความเป็นธรรม หรือตามคำแนะนำจากแผนการตลาด เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการผลิตโดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน ต่างคนต่างผลิต แย่งตลาด ตัดราคา
สนับสนุนการแปรรูปและอุตสาหกรรมเกษตร ตั้งโรงงานแปรรูปขนาดเล็กในชุมชนด้วยงบสนับสนุนจากรัฐ ใช้ของเหลือทิ้ง เช่น ผัก-ผลไม้เกรดต่ำ นำมาผลิตเป็นน้ำผลไม้ แยม อาหารแห้ง ฯลฯ
กระจายตลาดผ่านแพลตฟอร์มกลาง สร้าง “ตลาดออนไลน์เกษตรแห่งชาติ” ให้เกษตรกรสามารถขายตรงถึงผู้บริโภค ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ส่งเสริม “ศูนย์เศรษฐกิจชุมชน” เพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดการด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด โดยชุมชนจัดการกันเอง ไม่ถูก “ครอบงำ” จากรัฐหรือเอกชน
ปรับระบบประกันราคาพืชผล แทนที่จะใช้เงินอุดหนุนแบบไร้ทิศทาง ให้ใช้ระบบประกันราคาแบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องผ่านการขึ้นทะเบียน ต้องแปรรูปเบื้องต้นก่อนขาย
ระดับท้องถิ่น รวมกลุ่มเกษตรกรแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน เน้นการบริหารร่วมกัน มีอำนาจต่อรองตลาด จัดการเรื่องต้นทุนร่วม เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ การตลาด
อบรมความรู้ด้านการตลาด และแปรรูปเบื้องต้น เช่น ทำผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การตั้งราคาขาย
ส่งเสริมการตลาดภายในชุมชน เช่น ตลาดนัดชุมชน ร้านค้าท้องถิ่น สหกรณ์ผู้บริโภคที่รับซื้อผลผลิตชุมชน เชื่อมโยงกับโรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรในพื้นที่ แยกผลผลิตให้เหมาะกับตลาดชุมชน ตลาดผูกพัน และตลาดทั่วไป ถ้ามีอะไรที่โดดเด่นก็ทำเป็นโอทอป เป็นซอฟพาวเวอร์ เอกลักษณ์ท้องถิ่น
ส่งเสริมให้ใช้ผลผลิตเกษตรจากชาวบ้าน เช่น ทำอาหารกลางวันนักเรียน/โรงพยาบาล/หน่วยงานรัฐ ใช้ระบบเกษตรท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวให้มาเรียนรู้ ชิม และซื้อผลผลิตสด ๆ จากแหล่งผลิต
รัฐบาลยุคไหนก็ดูไม่มี “เวลา” มาดูแลปัญหาของภาคเกษตร เพราะดูแลแต่ผลประโยชน์ของตนเอง หรือดูแลแต่ส่วนที่ให้ประโยชน์ตนเอง ที่สำคัญ คือ ขาดการส่งเสริมเครือข่ายเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่มักถูกมองข้ามโดยทั้งรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
เกษตรกรโดดเดี่ยว ไม่มีพลังต่อรอง เพราะต่างคนต่างผลิต ไม่มีระบบเชื่อมโยง ไม่สามารถรวมพลังเพื่อวางแผนหรือเจรจากับตลาด
สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชนจำนวนมากเป็นแค่เปลือก ไม่ได้พัฒนาเป็น "องค์กรพัฒนาเกษตรกร" จริง ๆ ยังขาดการสร้างคน สร้างผู้นำ และการเชื่อมโยงกันข้ามพื้นที่
ขาดเครือข่ายสนับสนุน (Ecosystem) ที่มีทั้งคน พื้นที่ ความรู้ เทคโนโลยี และตลาดมาร่วมมือกัน
รัฐมีบทบาท “จากบนลงล่าง” มากเกินไป ไม่เอื้อต่อการสร้างพลังจากชุมชนท้องถิ่น “จากล่างขึ้นบน”
เครือข่ายต้องสร้างจากฐานราก ต้อง “ระเบิดจากข้างใน” ชุมชน ไม่อาจสั่งการจากหน่วยงานภายนอก ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ซึ่งที่ควรทำ คือ การค้นหา “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectual) ผู้นำชุมชน ที่สามารถประสานพลังภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ก่อตั้งสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน แล้วบุคคลจากภายนอกทำหน้าที่เชื่อมประสาน (networking) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
สหกรณ์การเกษตรมีอยู่ 3,000 มีสมาชิก 6 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็ทำเพียงไปกู้เงินธ.ก.ส.มาให้สมาชิกกู้ยืม เมื่อสมาชิกไม่คืนเงินกู้ สหกรณ์หลายแห่งก็ปิดไป หรือไม่ปิดก็เหมือนปิด วิสาหกิจชุมชนมีอยู่ 80,000 กลุ่ม มีสมาชิก 1,400,000 คน แต่ที่ดำเนินการจริงๆ คงไม่เกินร้อยละ 20 มีพลังจริงๆ คงไม่กี่แห่ง พอๆ กับสหกรณ์
น่าเสียดายว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่มีศักยภาพมากมาย ทั้งแรงงาน ทุนทรัพยากรในท้องถิ่น ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม
การมีสหกรณ์ มีวิสาหกิจชุมชน นับเป็นศักยภาพที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาการเกษตร ไทยพึ่งตนเองได้ ไม่ปล่อยให้เกษตรกรมีแต่หนี้สิน มีความพร้อมที่จะเป็นครัวของโลก และเป็นผู้นำด้านการเกษตร
ถ้าการเกษตรไทยได้รับการปฏิรูปไปพร้อมกับการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ได้รับการสนับสนุนด้วยทุนและเทคโนโลยี เกษตรกรรมจะเป็นภาคที่มีอนาคตมากที่สุด นักศึกษาจะหันมาเรียนเกษตร ที่วันนี้เป็นคณะและสาขาที่คนเรียนน้อยที่สุด