อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองไทย เต็มไปด้วยความสับสน และไม่แน่นอน จากเกมการเมืองที่เต็มไปด้วยการต่อรอง สร้างแรงกระเพื่อมเพื่อเกิดความได้เปรียบของฝ่ายตนเอง
ล่าสุด "สำนักวิจัยซูเปอร์โพล" โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อ "ทางตันของการเมือง" สะท้อนภาพที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของสังคมไทยต่อทิศทางการเมืองในอนาคต
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 47.1 ของประชาชนยอมรับว่าการเมืองไทยกำลังเดินเข้าสู่ทางตัน ในขณะที่ร้อยละ 31.9 แสดงท่าที "ไม่มีความเห็น" สะท้อนถึงความลังเลและความสับสนในใจของผู้คน มีเพียงร้อยละ 21.0 เท่านั้นที่ยังเชื่อว่าการเมืองไทยยังไม่ถึงจุดจบ
เมื่อเจาะลึกถึงสาเหตุที่ประชาชนรู้สึกว่าประเทศกำลังติดกับดักการเมือง พบว่า "ความขัดแย้งภายในรัฐบาล" ครองสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 45.7 ตามด้วย "ปัญหาในวุฒิสภา" (ร้อยละ 43.8), "ปัญหาส่วนตัวของนักการเมืองใหญ่" (ร้อยละ 40.9), "ความไม่เชื่อมั่นต่อการตรวจสอบขององค์กรอิสระ" (ร้อยละ 39.7) และ "การรับรู้ถึงการเลือกปฏิบัติ" (ร้อยละ 38.2)
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝ่ายการเมือง แต่แผ่ขยายลึกไปถึงความศรัทธาต่อระบบตรวจสอบ ความยุติธรรม และสถาบันทางการเมืองโดยรวม
“ผลโพลนี้สะท้อนภาพ ‘วิกฤตศรัทธา’ ที่ลึกซึ้งกว่าความขัดแย้งทั่วไป เพราะประชาชนไม่เพียงรู้สึกหมดหวังต่อผู้มีอำนาจ แต่ยังไม่เห็นทางออกจากระบบเดิม ๆ ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง" ดร.นพดล กรรณิกา กล่าว
แม้จะมีความรู้สึกผิดหวังอยู่มาก แต่ผลสำรวจยังสะท้อนเสียงเรียกร้องที่ชัดเจนจากประชาชน พวกเขาต้องการเห็นการแก้ปัญหาที่จับต้องได้ ร้อยละ 68.5 เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ, ร้อยละ 64.3 อยากเห็นความร่วมมือทางการเมืองแทนการเผชิญหน้า และร้อยละ 62.7 ต้องการให้องค์กรอิสระมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความสามารถในการคาดเดาอนาคตการเมือง พบว่า ร้อยละ 57.8 ของประชาชน "ไม่สามารถคาดเดาได้เลย" เป็นตัวเลขที่สะท้อนความไม่แน่นอนและความสิ้นหวังอย่างลึกซึ้ง
เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่อึดอัดและซ้ำซ้อนนี้ ผอ.ซูเปอร์โพลเสนอแนวทางเชิงนโยบายที่ครอบคลุม ตั้งแต่การบริหารจัดการความขัดแย้งเชิงสถาบัน การเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ฟื้นฟูศรัทธาต่อองค์กรอิสระและรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการสร้าง "ความหวังและวิสัยทัศน์ร่วมของชาติ" ที่สามารถเชื่อมโยงคนไทยทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน
"หากปล่อยให้ความรู้สึกหมดหวังสะสมมากขึ้น โอกาสในการพัฒนาประเทศจะถูกขัดขวางโดยวิกฤตศรัทธาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" ดร.นพดล กล่าวทิ้งท้าย
นับว่าเป็นเสียงเตือนที่ฝ่ายการเมืองต้องเงี่ยหูฟังและตระหนักก่อนที่จะสายเกินไป