“ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่หวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง 3 วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้ ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือ พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ที่เวลาเกิด จะใช้คำว่า "บ้าเลือด" เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประชาชนในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่าเฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง”

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชทานให้แก่ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

วันนี้ในอดีต เมื่อ 33 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ การชุมนุมต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งของ พล.อ.สุจินดา ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดาได้สั่งการสลายการชุมนุมของประชาชนที่ขับไล่รัฐบาล ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม พล.ต.จำลอง ผู้นำการชุมนุม ถูกจับกุม แต่ประชาชนยังคงปักหลักชุมนุมสู้ต่อเนื่อง

จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดาได้ประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นในการระงับความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อความสงบสุขเรียบร้อยของประเทศไทย ทรงรับสั่งให้ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าฯ โดยมีการเผยแพร่ผ่านทาง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

หลังการเข้าเฝ้าฯ การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายได้ยุติลง โดย พล.อ.สุจินดา ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้น 3 วัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พระราชกำหนดนิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

และในวันที่ 24 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดาได้แถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อบริหารประเทศระหว่างรอการเลือกตั้งใหม่