ทวี สุรฤทธิกุล
สงครามการเมืองสมัยใหม่ ต้องใช้พลังสังคม “ระเบิด” ร่วมกับใช้กฎหมาย “กวาดล้าง”
รัฐบาลและรัฐสภายุค “หนังหนา หน้าทน” ที่หลาย ๆ คนบ่นว่าเมื่อไหร่จะไปสักที บัดนี้อาจจะต้องมีอันเป็นไป ก็ด้วยมี “นักรบผู้กล้า 4 คน ยื่นฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรนูญ” ให้ตัดสินความผิดของรัฐบาลกับรัฐสภาชุดปัจจุบัน ในข้อหาละเมิดหรือกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144
สำหรับที่ท่านอยากทราบข้อกฎหมายข้อนี้ ก็จะขอนำมาแสดงสักเล็กน้อย โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ในมาตรา 144 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการ หรือคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงงบประมาณเว้นแต่ในทางลดหรือตัดทอน และห้ามแตะต้องรายจ่ายที่เป็น (1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) เงินที่กฎหมายกำหนดให้จ่าย หากมีการฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ บทลงโทษสูงสุดถึงขั้นให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และถูกเรียกเงินคืนภายใน 20 ปี”
เรื่องของเรื่องก็เริ่มต้นจากการที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ในตอนต้นปี 2567 ได้มีมติปรับลดงบประมาณ 35,000 ล้านบาท จากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ซึ่งเป็นเงินกู้ตามข้อผูกพันตามกฎหมายการเงินการคลัง เงินก้อนนี้ ถูกโยกมาเป็นงบกลาง เพื่อใช้ในโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ต่อมาเมื่อรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร รับช่วงบริหารประเทศต่อ งบกลางดังกล่าวก็เริ่มถูกเบิกจ่ายจริงเพื่อนำไปใช้ตามแผนเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของเงินกู้ที่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ หยิบยกขึ้นมาท้าทายผ่านมาตรา 144
วันที่ 25 เมษายน 2568 ชาญชัย อิสระเสนารักษ์, สมชาย แสวงการ, เจษฎ์ โทณะวณิก และ นิติธร ล้ำเหลือ ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอให้สอบสวนกรณีที่อาจมีการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญในเรื่องการจัดทำและแปรญัตติงบประมาณดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายบอกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเอาผิดตามคำฟ้องต่อไป (ซึ่งน่าจะครบกำหนด 15 วันหลังจากหักลบวันหยุดราชการต่าง ๆ นั้นแล้ว จึงคาดว่า ป.ป.ช.น่าจะก็ต้องส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์นี้)
ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.แล้ว รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน “15 วัน” ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นช่วงเดียวกันที่จะมีการพิจารณาเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน ในคดี “นักโทษทิพย์ชั้น 14” ที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกฟ้องร้องไว้ และภายในเดือนมิถุนายนนี่เองที่แผ่นดินไทยน่าจะ “สูงขึ้น” ด้วยปรากฏการณ์ “พระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง” ใน 2 เรื่องนี้ คือหนึ่ง เรื่องที่นายทักษิณน่าจะ “แทรกแผ่นดินหนี” ออกไปจากประเทศ และสอง เรื่องที่รัฐบาลและรัฐสภาน่าจะถูกพักงาน “พัง” ไปทั้งหมด
ในเรื่องแรกก็เป็นที่คาดการณ์ของผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากกันไว้แล้วว่า นักโทษ “มารหน้าเหลี่ยม” นี้ไม่น่าจะยอมเข้าคุก และด้วยความที่ยโสอหังการก็ต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์ของตนที่จะอยู่เหนือกฎหมายต่อไป ดังนั้นด้วยอิทธิพลทางการเงินและการเมือง ก็คงจะหาทางหนีออกไปจากประเทศไทยได้อย่างสงบเงียบ (แต่ก็มีหลายคนเชื่อในตำนานทางศาสนาเกี่ยวกับ “องคุลิมาล” ว่านักโทษคนนี้น่าจะรู้สำนึกในที่สุด แล้วขอยอมติดคุกเพื่อรับบาป แล้วน่าจะกลับตัวกลับใจภายหลัง โดยโทษ 1 ปีนั้นไม่นาน แล้วเอาเข้าจริง ๆ ก็คงจะได้รับอภัยโทษลดหย่อนลงไปอีก โดยชีวิตในคุกก็คงจะได้รับการดูแล “เป็นอย่างดี” ไม่น่าจะลำบากอะไร)
สำหรับเรื่องหลัง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 144 วรรค 3 เขียนไว้ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีการกระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องได้รับโทษ ดังนี้ “ถ้าผู้กระทําการดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทําการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทําการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย”
ครับ สาบสูญไปทั้งรัฐบาลและรัฐสภา! แผ่นดินไทย “สูงขึ้น - สวยงาม - น่าอยู่” ยิ่งขึ้นในทันที!
เรื่องนี้มีควันหลงที่ผู้เขียนอยากจะนำมาถ่ายทอดให้ฟัง คือเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเลี้ยงสังสรรค์ของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุ่น พ.ศ. 2549 - 2551 ได้มีการเชิญให้ “ผู้รู้ - ผู้ทำ” รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ท่านหนึ่ง มาพูดให้ความรู้ในเรื่องของความเป็นไปและอนาคตของบ้านเมืองเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้มีสมาชิกหลายคนได้ถามเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 144 ว่าจะส่งผลกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง รวมถึงถ้าไม่มีรัฐบาลและรัฐสภาชุดนี้แล้ว อนาคตขอประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
ท่านผู้รู้ฯตอบว่า เรื่องมาตรา 144 น่าจะมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 นั่นแล้ว และก็มีต่อเนื่องมาในฉบับ พ.ศ. 2550 และ 2560 นี้ ก็เพื่อไม่ให้มีการแอบแฝงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฉบับ 2560 นี้ได้เพิ่มเติมเรื่องอายุความที่จะเรียกเอาเงินคืนไว้ที่ 20 ปี ก็เพื่อแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐสภาใหม่แล้ว ก็ยังตามเอาผิดพวกที่ทำผิดในชุดก่อนนั้นได้
สำหรับรัฐบาลก็ต้องพ้นไปทั้งคณะ เพราะนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบโดยตรง เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีก็ต้องพ้นไปทั้งคณะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่ได้ร่วมประชุมหรือร่วมลงมติก็หลุดพ้นไปในเรื่องไม่ต้องชดใช้เงินคืน ต่อจากนี้ก็ให้รัฐมนตรีที่อาจจะเหลืออยู่บ้างนั้น(เพราะไม่ได้ร่วมประชุมหรือร่วมลงมติ)สักคนหนึ่งมารักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วให้ปลัดกระทรวงต่าง ๆ มารักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรี จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ สำหรับ ส.ส.กับ ส.ว.ที่ลงมติรับรองการแก้ไขนี้ก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง ถ้าเป็น ส.ส.ที่มีจำนวนถึง 309 คนที่รับรอง ถ้าเป็น ส.ส.เขตก็ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม แต่ถ้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องเลื่อนคนในบัญชีลำดับถัดไปให้เข้ามาแทน ส่วน ส.ว.ก็ต้องมีการเลือกสรรเข้ามาใหม่ (และไม่แน่ว่าหากคดีฮั้วที่กำลังพิจารณาอยู่โดยดีเอสไอและ ก.ก.ต.มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงขั้นที่อาจจะเอาผิด ส.ว.พวกนั้นได้ ก็อาจจะต้องมีการ “ล้มโต๊ะ” เลือกใหม่ทั้งหมด)
ทว่าผู้เขียนก็ยังหวั่น ๆ อยู่มากเหมือนกันว่า เมืองไทยอาจจะเกิด “อัปรียะนิหาริย์” ขึ้นได้อีก ที่รัฐธรรมนูญอาจจะเอาผิดคนพวกนี้ไม่ได้ เพราะ “ไอ้อีชั่ว ๆ” เหล่านี้มันน่าจะยังมีอิทธิฤทธิ์อยู่มาก
กฎหมายดีแต่คนใช้กฎหมายไม่ดี มีตัวอย่างให้เห็นมากมายมาโดยตลอด น่ากลัวจริง ๆ ครับ!