กรณีคณะกรรมการแพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 คน กรณีการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

ตามขั้นตอน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก "Smith Fa Srisont" ว่า ขณะนี้แพทยสภาได้ส่งมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้ว ซึ่งจะดำเนินการตามมาตรา 25 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม โดยขั้นตอนถัดไปมี 2 แนวทาง คือ

1 กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบ ไม่ยับยั้งมติภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง หรือมีคำสั่งเห็นชอบโดยตรง แพทยสภาจะสามารถนำมติดังกล่าวไปออกเป็น “คำสั่งแพทยสภา” ได้ทันที

2.กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยับยั้งหรือไม่เห็นชอบ คณะกรรมการแพทยสภาต้องนำเรื่องมาพิจารณาใหม่ในที่ประชุม โดยหากต้องการยืนยันมติเดิม ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด (ปัจจุบันต้องมีอย่างน้อย 47 เสียง) จึงจะสามารถออกเป็น “คำสั่งแพทยสภา”ต่อไปได้

ทั้งนี้ผศ.นพ.สมิทธิ์ ระบุด้วยว่า เมื่อมีการออก “คำสั่งแพทยสภา” แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษหรือยกข้อกล่าวโทษ ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดในทางปกครอง อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครองได้ โดยกระบวนการจะพิจารณาในสองชั้น ได้แก่ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์แพทยสภากำหนดวิสัยทัศน์ของแพทยสภาเอาไว้า  แพทยสภา เป็นสภาวิชาชีพที่ธำรงความเป็นธรรม มุ่งพัฒนามาตรฐานวิชาชีพแพทย์ และยกระดับมาตรฐานสุขภาพของประชาชน

สำหรับอำนาจหน้าที่ของแพทยสภา มี 6 ประการ คือ

(1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

(2) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

(3) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาชีพแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ

(4) รับรองหลักสูตรต่างๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันทางการแพทย์

(5) รับรองวิทยฐานะของสถาบันทางการแพทย์ที่ทำการฝึกอบรมใน (4)

(6) ออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตร แสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่น ในวิชาชีพชกรรม  (วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ,บทบาทที่แท้จริงของแพทยสภา,แพทยสภาสาร 1 January–March 2007)

ทั้งนี้ทั้งนั้น การวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงถูกจับจ้องอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่เพียงการลงโทษ ที่จะเป็นมาตรการทางวิชาชีพแพทย์ แต่ผลสะเทือนขยายไปสู่การเมือง กระเทือนไปถึงรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้