เกมการเมืองย่อมจะถูกปรับเปลี่ยน “แผนการเล่น” ไปตามสถานการณ์ บางครั้ง “กุนซือ” มองเกมยาว วางแผนการเล่นกันล่วงหน้า แต่เมื่อถึงเวลาเจอกับ “ตัวแปร” และ “ปัจจัย” หลากหลาย ที่สุดแล้วก็มีอันต้อง ปรับแผน เปลี่ยนเกมกันพัลวัน
สถานการณ์ที่ว่านี้ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างชัดเจน เพราะจากเดิมที่วางหมากกันเอาไว้ว่า จะต้อง “เล่นใหญ่” ทำหน้าที่เป็นพรรคการเมืองหลักสนับสนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง เป็น “นายกฯรอบสอง” ไม่ว่าจะมาจาก “นายกฯคนใน” หรือ คนนอก ก็ตาม
มีการเซ็ทอัพ พรรคพลังประชารัฐ ผ่านการขับเคลื่อนที่ผสมผสานกันระหว่าง “เทคโนแครต” อย่าง “4 รัฐมนตรี” ในรัฐบาล ทั้ง “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั่ง หัวหน้าพรรค , สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ นั่ง รองหัวหน้าพรรค ,สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งเลขาธิการพรรค และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่งโฆษกพรรค
ร่วมด้วยช่วยกัน กับ “เซียนการเมือง” ทั้งกลุ่มสามมิตร ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ผนึกกำลังกับ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รับหน้าที่เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” เปิดตัวเปิดหน้าทำงานการเมืองในภาคสนาม ใช้พลังดูดจนดึงอดีตส.ส.จากพรรคใหญ่ๆ รวบรวมเอาไว้ด้วยกัน ที่พลังประชารัฐ จนสร้างความฮือฮามาแล้ว
จนทำให้ “คู่แข่ง” ทั้ง “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” สองพรรคใหญ่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำมาแล้ว ด้วยเหตุที่ต้องเสียอดีตส.ส.ในหลายพื้นที่ ในหลายจังหวัดให้กับพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกันเมื่อเกมการเมืองดำเนินมาถึงเวลานี้ ดูเหมือนว่ามีปัจจัยด้วยกันหลายด้าน ที่กำลังทำให้พรรคพลังประชารัฐ ทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะเมื่อวันเลือกตั้ง ขยับออกไปจากหลักเดิม คือวันที่ 24ก.พ.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไปอีกราว 1เดือน ซึ่งอาจเป็นวันที่ 24 มี.ค.ได้กลายเป็น “จังหวะทำแต้ม” ของพรรคการเมืองน้อยใหญ่ ให้เร่ง “ตั้งหลัก”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังน่าสนใจว่า นอกเหนือไปจากพรรคใหญ่แล้ว ยังปรากฎว่าการเคลื่อนไหวของพรรคขนาดเล็ก ขนาดกลาง ทั้งภูมิใจไทย , ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ยังคงวางเป้าหมายและบทบาทของพรรค ในฐานะ “ตัวแปร” ที่สำคัญทางการเมืองเอาไว้อย่างหนักแน่น !
เพราะหากพรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “พรรคแกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาลได้ตาม “แผนการเล่น” ที่วางเอาไว้เดิม นั่นหมายความว่า “อำนาจต่อรอง” ของ พรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็จะกล้าแข็งขึ้นตามมาทันที
โดยเฉพาะอำนาจการต่อรองในการจัดสรร “เก้าอี้รัฐมนตรี” ในครม.จะขึ้นอยู่กระทรวงเกรดไหน ก็คงต้องใช้ “ที่นั่งส.ส.” ของแต่ละพรรคเป็นตัวชี้วัด เป็นสำคัญ !