สถาพร ศรีสัจจัง
“วัฒนธรรมกำหนดคุณภาพประชากร” เป็น “Slogan” หรือ คำขวัญของ “มูลนิธิศาสตราจารย์
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์(ครั้งยังมีชีวิต)ร่วมกับบรรดา กัลยาณมิตร และลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือต่อท่าน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมภาคใต้และโดยเฉพาะของสถาบันทักษิณคดีศึกษา
สถาบันทักษิณคดีศึกษาที่ถือกำเนิดขึ้นโดยศาสตราจารย์ระดับ 11 นาม สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ “ปราชญ์สามัญชน”ชาวบ้านตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาท่านนั้นอีกนั่นแหละ!
ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่ “สยามรัฐ(รายวัน)โดยคอลัมน์ “เส้นแบ่งความคิด” (คอลัมน์นี้แหละ!)เมื่อวันที่27 กรกฎาคม 2560 (ท่านอาจารย์ถึงแก่กรรมวันที่ 18 กรกฎาคม)บันทึกไว้ มีความบางตอนที่อยากนำมา “ฉายซ้ำ” ดังนี้ :
“…ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นปูชนียบุคคลด้านการใช้ภาษาไทย(กระทรวงวัฒนธรรมให้การยกย่อง) เป็น “เมธีวิจัยอาวุโส” สกว.(ด้านสังคมศาสตร์) เป็นศาสตราจารย์ ระดับ 11 (ระดับสูงสุดของข้าราชการไทย) และเป็นข้าราชการระดับ 11 คนแรกของประเทศไทย ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ “บ้านนอก” (คือต่างจังหวัด) โดยตลอด เป็นผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา(คิดริเริ่มดำเนินการจนสามารถจัดตั้งได้สำเร็จ) ที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา… เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เขียนตำราและหนังสือทางวิชาการด้านภาษาไทย วัฒนธรรมศึกษา และคติชนวิทยา เป็นจำนวนมาก…เป็นต้นคิดและหัวหน้าโครงการจัดทำ “พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคใต้" และ “สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้” จนสำเร็จเป็นสารานุกรมวัฒนธรรมชุดแรกของประเทศไทย และของเอเซียอาคเนย์(เมื่อพ.ศ.2529)จนกลายเป็นต้นแบบให้ “มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย”(สนับสนุนทุนโดย ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด) จัดทำของภาคอื่นๆให้เกิดขึ้นตามมา โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา…”
และวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ที่เพิ่งผ่านมา เป็นวันครบรอบ 45 ปีแห่งการสถาปนา “สถาบันทักษิณคดีศึกษา”(ได้รับการยกฐานะจาก “ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 อีกเพียง 5 ปีก็จะมีอายุครบครึ่งศตวรรษ!)
สถาบันแห่งนี้นับเป็นหน่วยงานในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย(ปัจจุบันคือ “กระทรวง อว.” หรือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)แห่งแรก ที่ดำเนินงานด้านท้องถิ่นศึกษา(Local Studies) ในรูปของศูนย์สนเทศข้อมูลทางวัฒนธรรม การศึกษาวิจัย การส่งเสริมเผยแพร่ ผนวกด้วยงานพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา(Folklore Museum)
แต่เดิมสถาบันทักษิณคดีศึกษา มีฐานะเป็น “คณะ” หนึ่งของมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)แต่ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตภาคใต้(สงขลา) แต่ภายหลังเมื่อมีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยทักษิณเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 สถาบันแห่งนี้ก็เปลี่ยนมาสังกัดมหาวิทยาลัยทักษิณดังกล่าวตั้งแต่นั้นมา(เรื่องนี้มีที่มาที่ไป!)
และตั้งแต่นั้นมา “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” ก็ถูกตีความว่าเป็นเพียง “หน่วยงานอื่น” ของมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่เข้าสังกัด ไม่ใช่ “หน่วยงานทางวิชาการ” ที่มีสถานะเหมือนเป็น “คณะหนึ่ง” ของมหาวิทยาลัย(ดังที่เคยเป็นมา)อีกต่อไป!
ด้วยเหตุนี้กระมัง ภายหลังจึงคล้ายมีเสียงจากบางใครที่เกี่ยวข้อง ศรัทธา และ ห่วงใย “เจตนารมณ์” ของท่านผู้สถาปนาสถาบันแห่งนี้ ดังมาแผ่วๆ…ทำนองว่า “พวกเขาได้อ่าน” ความหวังเหวิด “ที่อาจารย์ฯเคยเขียนฝากไว้ในหนังสือ”เหลียวหลัง…แลหน้า หนังสือที่ระลึกวันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2534…กันบ้างหรือเปล่าหนอ?”
เอาละกลับมาที่ “สโลแกน” ของ “มูลนิธิศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” กันอีกทีน่าจะมีประโยชน์กว่า!
ที่จริงวาทกรรม “วัฒนธรรมกำหนดคุณภาพประชากร” เป็นเหมือน “คำย่นความ” ซึ่งถอดมาจากประโยคเต็มๆที่เป็น “ความคิดรวบยอด” ชุดสำคัญชุดหนึ่งของท่านผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่ว่า “ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าเกินไปกว่าคุณภาพของประชากรไม่ได้ และคุณภาพของประชากรมีวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลัง”
ความคิดรวบยอดชุดนี้เองคือปฐมฐานทางความคิดในการเกิด “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” ขึ้นมา(เริ่มแตกหน่อก่อตัวตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510)
ความคิดรวบยอดที่ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของ “วัฒนธรรมพื้นบ้าน” ที่ “มาก่อนกาล” ของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ ดังกล่าวนี้ ได้รับการยืนยันว่า เกิดจากความตระหนักรู้ต่อข้อพร่องของ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” (ยังไม่มีคำ “และสังคม”) ที่กำลังเกิดให้เห็นจากการใช้แผนระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 นั่นเอง
เพราะแผนดังกล่าวขาดการนำเอา “ข้อเท็จจริงทางสังคมของสังคมไทย” (วัฒนธรรมรากฐาน)มาเกี่ยวข้องในการ “วางแผนฯ” เพื่อพัฒนาสังคมไทยไปสู่ “ความทันสมัยแบบตะวันตก” (Western Modernization)จนอาจทำให้สังคมไทยกลายเป็น “สังคมรากขาด” (อย่างที่เห็นกันอยู่แบบชัดๆในยุคปัจจุบัน)
วาทกรรม “วัฒนธรรมกำหนดคุณภาพประชากร” จึงควรได้รับการขยายความ!!!!!