ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลากหลาย ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่ซบเซา ค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางกับรายได้ และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจำนวนมากต้องประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดอย่างยากลำบาก ทว่าในเวลาเดียวกัน ข่าวหนึ่งกลับสร้างความตื่นตระหนกและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสนอของบประมาณประจำปี 2569 เป็นจำนวนเกือบ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการ “ปรับปรุง” อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เพิ่งตรวจรับไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567
รายละเอียดโครงการชี้ให้เห็นถึงรายการใช้จ่ายหลายส่วนที่ยังไม่เคยถูกใช้งานจริง หรือเพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน อาทิ
- โครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์รัฐสภา 120 ล้านบาท
- ระบบเสียงห้องประชุมใหญ่ 99 ล้านบาท
- ห้องสัมมนาชั้น B1 และ B2 รวม 236 ล้านบาท
- ห้องสารสนเทศพร้อมระบบแสง สี เสียง 180 ล้านบาท
- ศาลาแก้ว ซึ่งยังไม่เคยเปิดใช้งานเลย แต่ของบซ่อมถึง 123 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนขอเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 5 โครงการ โดยใช้งบประมาณเพิ่มเติมกว่า 1,800 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาในภาพรวม โครงการเหล่านี้ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในปัจจุบัน
รัฐสภาแห่งใหม่ หรือ “สัปปายะสภาสถาน” ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ผ่านการต่อสัญญาก่อสร้างถึง 4 ครั้ง และเพิ่งตรวจรับเมื่อปี 2567 อย่างเป็นทางการ แต่กลับมีรายงานปัญหาเกี่ยวกับการใช้งาน เช่น น้ำรั่วซึม พื้นที่บางส่วนชำรุด ซึ่งสร้างคำถามเกี่ยวกับคุณภาพงานและการบริหารจัดการงบประมาณโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นี้
ในขณะที่รัฐสภายังคงเดินหน้าใช้งบประมาณเพื่อสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานภายในอาคาร ผลงานด้านนิติบัญญัติกับสวนทางอย่างชัดเจน โดยในช่วงสมัยประชุมที่ 2 ของปี 2567-2568 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรรวม 31 ครั้ง ประชุมร่วมรัฐสภา 6 ครั้ง และผ่านร่างพระราชบัญญัติสำคัญเพียง 9 ฉบับ ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนจำนวนมากยังค้างพิจารณา
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อสังเกตที่ไม่อาจละเลยได้ คือการตั้งคำถามว่า การลงทุนในการปรับปรุงรัฐสภานั้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นเพียงการดำเนินโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรภายใน มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ
ในสภาวะที่ประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง ความโปร่งใส ความคุ้มค่า และความจำเป็นจึงต้องถูกยกขึ้นมาเป็นเกณฑ์สูงสุดในการอนุมัติงบทุกบาททุกสตางค์ มิใช่เพียงเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องเป็นการตอบโจทย์ของประชาชนทั้งประเทศ