เสรี พงศ์พิศ/www.phongphit.com
“เรื่องน่าเศร้าที่สุดในชีวิตวันนี้ คือ วิทยาศาสตร์ได้ความรู้มาเร็วกว่าที่สังคมได้ปัญญา” ไอแซค อาซิมอฟ นักเขียน นักวิทยาศาสตร์คนดังว่าไว้
อาซิมอฟเป็นอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย มีชื่อเสียงด้วยการเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ เขาถึงแก่กรรมเมื่อปี 1992 ก่อนที่บรรดา “สมองประดิษฐ” (artificial intelligence) จะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วใน ระยะ 20 ปีมานี้ แม้หลายอย่างเขาก็ได้เขียนไว้ในนวนิยายของเขาก่อนแล้ว
คำว่า artificial intelligence แปลกันเป็นไทยและติดตลาดไปแล้วว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งผมไม่เห็น ด้วย อยากใช้คำว่า “สมองประดิษฐ” มากกว่า และอยากสงวนคำว่า “ปัญญา” เอาไว้แปลคำว่า wisdom อย่างที่อาซิมอฟว่าไว้ว่า “The saddest aspect of life right now is that science gathers knowledge faster than society gathers wisdom”
โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อมูล (data) ข่าวสาร (information) ความรู้ (knowledge) แต่ขาด “ปัญญา” (wisdom) เพราะปัญญาไม่ได้มากจากข้อมูลข่าวสารความรู้ แต่มาจากการปฏิบัติ โดยอาจนำข้อมูลข่าวสาร ควาวมรู้ไปสู่การปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริง ประมวลออกมาเป็นหลักคิด ทฤษฎี เป็นปรัชญาหรือปัญญา คำในความหมายเดียวกัน เป็นคำที่บ่งบอกว่า คนและความรู้นั้นหลอมรวมเป็นหนึ่ง
ปัญญาเกิดจากภายใน ความรู้มาจากภายนอกและเข้าสู่การทำงานของสมองที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเข้าด้วยกันจนกลายเป็นความรู้
ผมไม่เชื่อว่าหุ่นยนต์ทั้งหลาย และสิ่งประดิษฐ์ทั่งมวลจะมี “ปัญญา” เพราะปัญญามาจากองค์รวมของชีวิตที่มี ”จิตใจ” ไม่ใช่เพียงการประมวลข้อมูลและสร้างชุดความรู้ต่างๆ อย่างแยบยล พิศดาร เก่งกล้าสามารถจนเอาชนะความรู้ ทักษะและ “สมอง” ของมนุษย์ได้ในหลายๆ เรื่อง
เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันตลอดประวัติศาสตร์ของโลก ที่มาของปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ที่มีฐานคิดที่แตกต่างกัน ทำให้มีนักปรัชญา 300 ปีก่อนบอกว่า เหตุผลสำคัญที่สุด แนวคิดนี้จับคู่กับนักวิทยาศาสตร์อย่างนิวตัน ก่อให้เกิดการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคคโนโลยี แต่ยังผลให้ลดทอนทุกอย่างลงมาเหลือแค่ “เหตุผล” และ “วัตถุ”
ทำให้คนคิดแบบกลไก แยกส่วน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เห็นได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม การบริหารจัดการบ้านเมือง การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้อยู่บนฐานคิดอีกแบบที่บอกว่า “หัวใจมีเหตุผล ที่เหตุผล (สมอง) ไม่รู้จัก” อย่างที่ปาสกัล นักปราชญ์สายองค์รวม ยุคเดียวกับเดการ์ต นักปราชญ์บิดาของเหตุผลนิยม รากฐานการคิดของโลกปัจจุบัน
การบริหารจัดการต่างๆ จึงมักเน้นที่ “แรงจูงใจ” มากกว่าสร้าง “แรงบันดาลใจ” เพราะทำง่ายกว่าที่จะให้รางวัลและการลงโทษ ซึ่งใช้เหตุผลธรรมดาก็อธิบายได้ แต่แรงจูงใจต้องใช้ตัวอย่างที่ทำแล้วเห็นจริง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นพลังขับเคลื่อนที่แรงกว่าและยั่งยืนกว่า “แรงจูงใจ”
การใช้ “กฎหมาย-กฎระเบียบ” จึงทำได้ง่ายกว่าและทำกันมากกว่าการพัฒนา “จิตสำนึก” ที่ยากกว่า แต่ยั่งยืนกว่า เพราะมาจากกภายใน และสัมพันธ์กับชีวิตทั้งหมดแบบองค์รวม ไปบอกไปสอนคนอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การบังคับใช้กฎหมายก็ใช้ได้ แต่เมื่อมีโอกาสคนก็ทำผิดกฎหมาย หมวกกันน็อค จึงกลายเป็นหมวกกันตำรวจ ใส่เมื่อรู้ว่าข้างหน้ามีตำรวจ
กฎหมายใช้กับ “สถาบัน” (institution) ต่างๆ ตั้งแต่เล็กไปจนถึงสถาบันทางบ้านเมือง ขณะที่ “ขบวนการ” (movement) จะใช้พลังของจิตวิญญาณ (spirit) สถาบันอยู่ได้เพราะจิตวิญญาณ ไม่ใช่เพราะกฎระเบียบ ถ้าสถาบันอยู๋ด้วยกฎระเบียบอย่างเดียว สถาบันจึงแข็งทื่อ ปรับตัวยาก เปลี่ยนแปลงยาก ขบวนการจึงยืดหยุ่นปรับตัวเคลื่อนไหวได้ง่าย เปลี่ยนแปลงง่าย
คำเหล่านี้สัมพันธ์กับ “ภายนอก-ภายใน” “กาย-ใจ” “เปลือก-แก่น” ซึ่งหากไม่แยกแยะหรือมองข้ามก็ทำให้เกิคความสับสน เหมือนที่ใครๆ ชอบใช้คำว่า “บูรณาการ” “วิสัยทัศน์” “ยุทธศาสตร์” “ศักยภาพ” และคำอื่นๆ อย่างพร่ำเพรื่อและไม่เข้าใจจริง จึงขาดพลัง เพราะมีแต่ตัวหนังสือและคำ แต่ไม่มีความหมายที่ต้องมาจาก “ภายใน” ของคนพูดเอง มาจาก “ใจ” ไม่ใช่มาจากปากหรือจากสมองเท่านั้น
ในหนังสือ “เจ้าชายน้อย” (The Little Prince) มีบอกไว้ตอนหนึ่งว่า “ ใจเราเท่านั้นที่จะเห็นอะไรได้ถูกต้อง สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ เราไม่สามารถเห็นด้วยตา” (It is only in the heart that one can see rightly, what is essential is invisible to the eye.)
โลกวันนี้พัฒนาไปเร็วอย่างน่ากลัว มนุษย์เข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ได้ทุกที่ทุกแห่งทุกเวลาและทุกเรื่อง มีมือถืออัจฉริยะก็เพียงพอ แต่ก็สัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยตาและด้วยสมองมากกว่าด้วยหัวใจ และถูกท่วมท้นทับถมด้วยข้อมูลข่าวสารที่จริงบ้างเท็จบ้างจนแยกยาก และไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาทางปัญญา
แม้ว่า “สมองประดิษฐ” ที่ทำอะไรได้ดีกว่า เก่งกว่าคนในบางเรื่อง แต่เพราะคนมีหัวใจ มีปัญญา และก้าวข้ามมิติธรรมดาไปอีกมิติหนึ่งแห่งอุตรภาวะ คงไม่มีสิ่งประดิษฐใดทำแทนได้