เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส พิธีปลงพระศพ การเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ คือ “เลโอที่ 14” เป็นเรื่องที่ชาวโลกให้ความสนใจ คงไม่ใช่เพียงเพราะเครื่องมือสื่อสารโซเชียลมีเดียเท่านั้น

แต่คงเป็นเพราะการแสวงหาทางออกในความมืดมนสับสนวุ่นวายของโลกวันนี้ โหยหาสันติภาพและสังคมที่สงบสุข เรียกหาผู้นำทางจิตวิญญาณ คนดีมีศีลธรรมในยามที่โลกมีแต่ผู้นำที่เหมือนนรกส่งมาเกิด

ประวัติศาสตร์ 2025 ปีของศาสนจักรคาทอลิก มีพระสันตะปาปา 267 องค์ ผ่านความรุ่งเรือง ความตกต่ำวิกฤต และความแตกแยก ร้อยปีเศษที่ผ่านมา ได้มีพระสันตะปาปาที่เป็นผู้นำสำคัญ ที่ให้แนวทางแก่ชาวคาทอลิก หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ร่วมทั้งพรรคการเมือง

 อย่างพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 เมื่อปี 1891 ที่ทรงออกสมณสาส์นชื่อ “Rerum Novarum” เพื่อตอบความท้าทายของโลกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ศตวรรษใหม่และยุคใหม่ที่ทุกอย่าง “เร็วขึ้น”  (รถยนต์มาแทนรถม้า โทรศัพท์มาแทนโทรเลข คนกำลัง “บินได้” เร็วกว่านก)

สมณสาส์นของพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคำสอนทางสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกยุคใหม่ เป็นการวางแนวทางสายกลางระหว่างทุนนิยมสุดโต่งกับสังคมนิยมแบบปฏิวัติ โดยเน้นว่า แรงงานมีศักดิ์ศรี ทรัพย์สินมีคุณค่า และรัฐมีหน้าที่สร้างความยุติธรรม

สมณสาส์นนี้เป็นรากฐานที่สามารถปรับใช้ในบริบทปัจจุบันได้อย่างมีพลัง เพราะปัญหาที่กล่าวถึง เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และศักดิ์ศรีของแรงงาน ยังคงอยู่ แม้ในรูปแบบใหม่

คำสอนนี้ช่วยชี้แนะแนวทางที่ยึดหลักศีลธรรม ความยุติธรรม และความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่เน้นประสิทธิภาพและผลกำไร

พระสันตะปาปาพระองค์ต่างๆ ต่อมาก็ได้สืบทอดเนื้อหาสำคัญมาตลอด เช่น ในโอกาสครบ 40 ปี 70 ปี 100 ปี หรือสมณสาส์น Populorum Progressio (ความก้าวหน้าของประชาชาติ) ของพระสันตะปาปา ปอลที่ 6 ที่สรุปในการปาฐกถาที่สหประชาชาติ (4 ตุลาคม 1965) เรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียมบนฐานของศักดิ์ศรีความเป็นเพื่อนร่วมโลก ทรงตำหนิประเทศที่รวยก็ยิ่งรวย เอาเปรียบประเทศยากจนที่ยิ่งจนลงไปอีก

ในปี 1991 โอกาส 100 ปีของ Rerum Novarum พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ออกสมณสาส์น Centesimus Annus ที่เน้นศักดิ์ศรีของมนุษย์และคุณค่าของแรงงาน

มนุษย์เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ แรงงานไม่ใช่เพียงสิ่งแลกเปลี่ยน แต่เป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจต้องให้เกียรติและรับใช้มนุษย์

พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เป็นชาวโปแลนด์ วิจารณ์ทั้งลัทธิคอมมิวนิสต์และทุนนิยมที่ไร้ขอบเขต

ทรงตำหนิลัทธิมาร์กซ์ที่ละเมิดเสรีภาพและไม่เคารพความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เตือนว่าทุนนิยมที่เน้นกำไรและการบริโภคโดยไม่ใส่ใจศีลธรรม จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและการทอดทิ้งคนจน

ทรงสนับสนุนตลาดเสรีที่มีจริยธรรม ทรัพย์สินส่วนบุคคลและการประกอบการ เหล่านี้มีคุณค่า แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมและกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อผลกำไรส่วนตัวอย่างเดียว

ทรงเน้นประโยชน์ส่วนรวมและ “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” (Solidarity) (คำที่เป็นกุญแจของการเปลี่ยนระบอบการปกครองในโปแลนด์จากสังคมนิยมสู่ประชาธิปไตย ที่พระองค์มีส่วนด้วย)โดยเฉพาะกับคนยากไร้ และเรียกร้องให้มีโครงสร้างหรือระบบที่ส่งเสริมความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสวัสดิภาพของทุกคน

สมณสาส์นนี้เรียกร้องให้ทั่วโลกมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบในระดับโลกร่วมกัน ทั้งในเรื่องความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม โลกาภิวัตน์ต้องมีคุณธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ

สมณสาส์นเสนอวิสัยทัศน์ของ “เศรษฐกิจเพื่อมนุษย์” ที่สมดุลระหว่างเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนหลักศีลธรรมและมโนธรรมของคริสตชน

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงสืบทอดแนวคิดของ Rerum Novarum ในสมณสาส์น 3 ฉบับ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร 2013) เกี่ยวกับสังคมเศรษฐกิจ ตำหนิระบบเศรษฐกิจที่ "ฆ่าชีวิตมนุษย์" พระองค์เตือนว่า ระบบทุนนิยมแบบบริโภคนิยมสุดโต่ง ที่ไม่แยแสคนยากจนได้สร้าง “วัฒนธรรมแห่งการทิ้ง” (culture of discard) หรือการบริโภคแบบล้นเกิน เหลือกินเหลือใช้ทิ้ง หรือของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

เรียกร้องให้ใส่ใจคนชายขอบ คืนศักดิ์ศรีให้คนจน ไม่มองพวกเขาเป็นปัญหา แต่เป็นพี่น้อง ส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีจิตวิญญาณ เศรษฐกิจมีคุณธรรม มีความเป็นธรรม ไม่ใช่เน้นผลกำไรเป็นที่สุด

ในสมณสาส์น Laudato Si’ (สรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า 2015) เรียกร้อง "การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล" การทำลายธรรมชาติคือการทำลายมนุษย์ โดยเฉพาะคนยากจน เสนอแนวคิด “นิเวศวิทยาองค์รวม” (integral ecology) มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสังคมต้องเชื่อมโยงกัน และต้องเปลี่ยนวิธีคิดทั้งในระดับบุคคล เศรษฐกิจ และการเมือง ย้ำศักดิ์ศรีของแรงงาน การใช้ทรัพยากรอย่างยุติธรรมต้องคำนึงถึงคุณค่าของแรงงาน และการมีงานทำ

 Fratelli Tutti (พี่น้องทั้งหลาย 2020) เป็นสมณสาส์นที่เน้นภราดรภาพมนุษย์และมิตรภาพทางสังคม ซึ่งขยายแนวคิดของ Rerum Novarum ไปในมิติระดับโลก ย้ำว่าโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน

เราต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดน ศาสนา เชื้อชาติ  วิจารณ์แนวคิด “เสรีนิยมแบบสุดโต่ง” ที่ละเลยบทบาทของรัฐ และไม่สนใจคนยากจน เสนอเศรษฐกิจแห่งการให้ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ (economy of gift) ไม่ใช่เพียงระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่ต้องมีความเมตตา และความรับผิดชอบร่วมกัน

แม้ว่าคำสอนทางสังคมของศาสนจักรคาทอลิกจะไม่สว่างเหมือนดวงอาทิตย์หรือแม้แต่ดวงจันทร์ เป็นเพียง “ดาวเหนือ” แต่ก็เพียงพอเพื่อนำทางคนที่เดินอยู่ในโลกแห่งความมืดนี้ให้ไปถึงจุดหมายปลางทางได้

ที่สำคัญ คุณค่าทางศาสนาและผู้นำศาสนาดีทำให้เชื่อว่า คุณธรรมยังค้ำจุนโลก ถ่วงดุลความเลวร้ายได้