ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเตือนให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า “โควิด-19 vs ไข้หวัดใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร ดูข้อมูลจากระบบรายงานเช้านี้ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา สัปดาห์ที่ 19 ปี 2568น่าสนใจว่ามีเคสที่ป่วยมารับการรักษาที่รพ. (ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก) โดยเป็นโรคโควิด-19 มากกว่าไข้หวัดใหญ่ 6.7 เท่า

โควิด-19 นั้น เพศหญิงเยอะกว่าชายราว 2 เท่า ส่วนไข้หวัดใหญ่ หญิงชายพอ ๆ กันในกลุ่มที่เป็นโควิด-19 มีเด็กเล็ก 0-4 ปีในสัดส่วนราว 5% ของจำนวนเคสที่รายงานทั้งหมดในขณะที่กลุ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้น เด็กเล็ก 0-4 ปีมีราว 13%

ทั้งนี้ กลุ่มวัยทำงานถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดในทั้งสองโรคด้วยทิศทางนี้ พอประเมินกันได้เองว่า หากป่วยตอนนี้มีโอกาสเป็นโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่พอสมควร”

ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเพจ Center for Medical Genomics อัปเดตภูมิทัศน์สมรภูมิสายพันธุ์โควิด: LP.8.1 ผงาด XEC ถอยทัพ และ PA.1 น่าจับตา ระบุว่า

“ภาพรวม การติดตามวิวัฒนาการของ SARS-CoV-2 ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สายพันธุ์ LP.8.1 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก JN.1 ผ่าน KP.1.1.3 ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นและการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี กลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายในหลายภูมิภาคในช่วงต้นปี 2025 ในขณะที่ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสม ก็เคยมีสัดส่วนที่สำคัญแต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงในบางพื้นที่เมื่อเผชิญกับการแข่งขันจาก LP.8.1 ทั้งสองสายพันธุ์นี้ยังไม่พบว่าก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ โอมิครอน อื่นๆ และวัคซีนปัจจุบันยังคงคาดว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครุนแรง

สำหรับสายพันธุ์ PA.1 แม้จะสืบเชื้อสายมาจาก KP.1.1.3 เช่นเดียวกับ LP.8.1 แต่แผนภูมิสายวิวัฒนาการแสดงให้เห็นว่ามีเส้นทางวิวัฒนาการที่แตกต่างออกไป ปัจจุบัน PA.1 มีสัดส่วนการระบาดต่ำ แต่ตำแหน่งที่แตกต่างบนแผนภูมิทำให้เป็นที่น่าจับตามองสำหรับการเฝ้าระวังต่อไป

การอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น LP.8.1 และ XEC เป็นเครื่องเตือนใจว่า SARS-CoV-2 ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่อง การเฝ้าระวังทางพันธุกรรมอย่างเข้มแข็ง การประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ และการปรับปรุงมาตรการทางสาธารณสุข รวมถึงวัคซีน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดผลกระทบของการระบาดในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจะประเมินความเสี่ยงโดยรวมจากสายพันธุ์อย่าง LP.8.1 ว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่ความตื่นตัวและการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นหัวใจสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม เราต้องกลับมาใส่ใจและรักษาสุขภาพตามแนวทางป้องกัน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาแอลกอฮอล์