ทวี สุรฤทธิกุล

เวลานี้หลายคนคงมีความสุขเช่นเดียวกันกับผู้เขียน ที่ “เวรกรรม” และ “ความยุติธรรม” มีจริง ได้แสดงผลแก่ “คนชั่ว” ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จึงขอไปคุยเรื่องสนุก ๆ บำรุงจิตใจให้มีความสุขยิ่งขึ้นสักเรื่องหนึ่ง

ระหว่างที่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการแพทสภาตัดสินเอาผิดแพทย์ที่สมคบกับคนชั่วเมื่อบ่ายวันก่อน ผู้เขียนก็ได้เปิดไปเจอหนังเรื่องหนึ่งทางช่องเคเบิ้ลทีวี พอดูจบแล้วก็ให้นึกถึงเรื่องของ “ความชั่ว” ที่มีอยู่ในทุกสังคม โดยความชั่วที่น่ากลัวที่สุดก็คือการใช้อำนาจอิทธิพลเพื่อสร้างตัวตนให้เป็นใหญ่ แล้วใช้อำนาจอิทธิพลนั้นเพื่อให้ตัวเองยิ่งใหญ่มากขึ้น ด้วยการทำลายล้างคนอื่นเพื่อให้ตนเองยิ่งใหญ่ตลอดไป

หนังเรื่องนั้นคือ The Pentagon Wars ที่เป็นเรื่องของโครงการจัดสร้างรถลำเลียงพล ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เริ่มต้นโครงการใน ค.ศ. 1968 แต่ผ่านไป 17 ปีก็ยังสร้างไม่ได้ เพราะกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและสเป็คต่าง ๆ ไม่ผ่าน โดยนายทหารที่ควบคุมโครงการนี้พยายามที่จะ “บิดเบือน” หรือทำรายงานเท็จแก่ฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้อนุมัติเรื่อยมาเพื่อพยายามจะสร้างให้ได้ แต่ฝ่ายการเมืองคือรัฐสภาก็ตั้งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบอยู่เป็นระยะหลายคน สุดท้ายใน ค.ศ. 1985 รัฐสภาก็ส่งนายทหารผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจากกองทัพอากาศมาตรวจสอบอีกครั้ง

คนที่มาตรวจสอบคือนาวาอากาศโทเจมส์ เบอร์ตัน และเป็นผู้นำเรื่องการตรวจสอบโครงการนี้มาเขียนเป็นหนังสือ ภายหลังจากที่เขาถูกบังคับให้เกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ด้วยเหตุที่ไปงัดง้างกับ “ขาใหญ่” ในครั้งนั้น จนกระทั่งในปี 1998 ก็มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ การตรวจสอบนี้ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นการต่อสู้อย่างดุเดือดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่อาจจะเปรียบเหมือน “สงคราม” แบบหนึ่ง และในภาษาอังกฤษก็มีตัว s อยู่ท้าย War ซึ่งก็คือต้องต่อสู้มาหลายครั้ง และเหตุเกิดใน Pentagon อันเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือและชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้

คนที่สร้างหนังเรื่องนี้พยายามทำให้เป็นเรื่องของการ “เสียดสี – ตลกขบขัน” (ในวิกิพีเดียบอกว่าเป็นแนว War Comedy ) ซึ่งทำให้ดูสนุก ไม่เคร่งเครียด ทั้งยังได้เห็น “ไส้” หรือธาตุแท้ของการเมืองและระบบราชการของสหรัฐอเมริกาได้ในระดับหนึ่ง เป็นต้นว่า การไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพด้วยเล่ห์เพทุบาย หรือการแสดงอำนาจของผู้บังคับบัญชา “ชั่ว ๆ” ที่ทำทุกหนทางเพื่อขจัดลูกน้องที่ไม่ยอมตาม รวมถึงความจองหองของข้าราชการที่กล้าท้าทายอำนาจของฝ่ายการเมือง

หนังเรื่องนี้เปิดฉากด้วยฉากที่นายพลพาร์จริดด์ กำลังถูกสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ในเรื่องที่มีการทุจริตในการจัดสร้างรถลำเลียงพล “The Bradley” ซึ่งตั้งชื่อตามนายพลเนลสัน แบรดลีย์ วีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีของกองทัพอเมริกัน ต่อมาได้เป็นประธานคณะเสนาธิการของกองทัพสหรัฐคนแรก หรือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั่นเอง ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่มีความซื่อตรงและรักผู้ใต้บังคับบัญชามาก

ระหว่างการสอบสวนนั้น รัฐสภาก็ได้ส่งนาวาอากาศโทเจมส์ เบอร์ตัน ไปตรวจสอบและทำรายงาน แต่ก็ถูกนายพลพาร์จริดด์และลูกสมุนขัดขวาง ความสนุกสนานที่หนังเรื่องนี้ได้นำมาเสียดสีก็อยู่ในฉากของการทดสอบต่าง ๆ ที่ถูกบิดเบือน เช่น ใช้จรวดที่ต่ำกว่ามาตรฐานมายิงทดสอบ ให้คนมาขโมยแกะที่จะใช้ทดสอบควันพิษจากการระเบิด และเอาหุ่นคนมาเผาหลอก ๆ ดูการเผาไหม้ เป็นต้น รวมถึงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมที่ดูเหมือนจะอยู่ข้างของนาวาอากาศโทเบอร์ตัน กับนายพลพาร์จริดด์ที่ยืนกระต่ายขาเดียวในความถูกต้องของตนด้วยท่าที่ยั่วโมโหและยโสโอหัง กับบทซักถามในตอนท้ายของเรื่อง ที่นายพลพาร์จริดด์ต้องจนมุมด้วยฝีมือของคณะกรรมการธิการ

ฉากจบของเรื่องนี้ไม่ได้สวยงามอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะแม้ผลการสอบสวนจะพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลในโครงการนี้มากมาย แต่ก็เอาผิดนายพลพาร์จริดด์กับพวกไม่ได้ (ในภาพยนตร์บอกให้ทราบแต่เพียงเลา ๆ ว่า อาจจะมีอิทธิพลที่ใหญ่กว่ารัฐมนตรีกลาโหมช่วยนายพลพาร์จริดด์เอาไว้) ทั้งคนกลุ่มนี้ยังได้รับการโปรโมทให้มีตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุให้นาวาอากาศโทเบอร์ตันทนอยู่ในอาชีพราชการต่อไปไม่ได้ ทั้งยังถูกบีบให้เกษียณลาออกจากราชการ ทั้งที่ตอนนั้น (ค.ศ. 1985) เพิ่งจะมีอายุเพียง 40 ต้น ๆ เขาจึงนำเรื่องนี้มาเขียนเป็นหนังสือ และต่อมาก็มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ (แต่ก็อยู่ในวงแคบ ๆ เพราะสร้างโดย HBO บริษัทเคเบิลทีวีที่มีตลาดแคบกว่าบริษัทสร้างหนังฮอลลีวูดในตอนนั้น - ค.ศ. 1998) ซึ่งคนที่ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วคงจะเศร้าใจมาก ๆ เหมือนผู้เขียน แม้จะสนุกสนานและหัวเราะมาตลอดเรื่องแล้วนั้นก็ตาม

เรื่องแรกที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบก็คือ กรณีตึก สตง.ถล่ม ซึ่งดูเหมือนผู้บริหาร สตง.จะโยนความผิดให้ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมการก่อสร้าง ดีที่ว่ามีประชาชนคือคุณนารากร ติยายน ได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งความเอาผิดกับผู้บริหารของ สตง.แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

การทุจริตในการก่อสร้างครั้งนี้มีอย่างแน่นอน แต่มันสะท้อนว่าความเงียบกริบของผู้ที่รับผิดชอบ ไม่เฉพาะแต่ผู้บริหารใน สตง. แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ กทม. และรัฐบาล ก็ไม่ได้คิดจะจัดการเอาผิดกับ สตง.แต่อย่างใด จนทำให้อดคิดไปได้ว่า ระบบราชการไทยนี่มันใหญ่คับฟ้าจริง ๆ เพราะเมื่อคนในราชการด้วยกันทำผิด(สตง.แม้จะเป็นองค์กรอิสระ แต่โดยความเป็นมาและวัฒนธรรมขององค์กรก็คือข้าราชการแบบหนึ่งนั่นเอง)ก็ไม่กล้าเอาผิด ในทำนอง “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันที่อยู่ในอาจมด้วยกัน” นั่นเอง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การแสดงความบ้าอำนาจของ ส.ว.ในระบบ “ฮั้ว” บางคน ที่อดีตเคยเป็นใหญ่ในระบบราชการมาบ้าง พอจะถูกตรวจสอบเอาผิดก็ฟาดงวงฟาดงา (ความจริงน่าจะฟาดหางและสะบัดเกล็ดสีน้ำเงินนั้นมากกว่า) แถมยังท้าทายว่าพวกที่จะมาตรวจสอบนั้น “ต่ำชั้น” (อยู่ข้างล่าง)กว่าพวกตน นี่ก็แสดงถึงความมัวเมาในอำนาจ และยิ่งเป็นนักการเมืองที่มาจากคราบอดีตที่เป็นข้าราชการ ก็ยิ่งเหิมเกริมเอาความเป็นเจ้าตนนายคนมา “ชูคอ - แลบลิ้น” ขู่ขวัญผู้คนให้ขยะแขยงจนสุดจะทานทน

ใครเจอเรื่องเลว ๆ ดังตัวอย่างสองเรื่องนี้ขอให้ช่วยกันแฉออกมามาก ๆ โดยเฉพาะข้าราชการที่อยู่บังคับบัญชาของนายชั่ว ๆ พวกนี้ ไม่ต้องถึงขั้นเขียนเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนัง อย่างเรื่อง The Pentagon Wars นั้นก็ได้ เอาแค่แชร์เรื่องราวแบบนี้ในโซเชียลให้มาก ๆ ก็อาจจะช่วยทำให้ “มารประเทศ - เศษมนุษย์” พวกนี้ค่อย ๆ ละลายหายไปได้

เริ่มด้วยอธิษฐานให้ “มารประเทศ” ตัวหนึ่งได้ออกไปตายที่ประเทศอื่น และอย่าได้ผุดได้เกิดอีกเลย!