รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สังคมไทยต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาการว่างงาน และการเปลี่ยนผ่านต่าง ๆ ที่ยากแก่การคาดเดา จนกล่าวกันว่าเป็นยุคแห่งความไม่แน่นอน (Era of Uncertainty) คำถามสำคัญคือ มหาวิทยาลัยไทยจะก้าวไปทางไหน? ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,180 คนทั่วประเทศ โดยสถาบันศิโรจน์ผลพันธินร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 เพื่อหาคำตอบว่า "มหาวิทยาลัยไทยในสายตาประชาชน" ควรเป็นเช่นไร และควรมุ่งหน้าไปในทิศทางใด ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อประเด็นดังกล่าวสะท้อนและเปิดมุมมองที่น่าสนใจต่อทิศทางของมหาวิทยาลัยไทยในยุคเปลี่ยนผ่านหลายประการ

ความเชื่อมั่นที่ยังมีต่อ “มหาวิทยาลัยไทย” ประชาชนยังคงให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการจัดการเรียนการสอน ที่ได้คะแนนสูงถึง 81.39% สะท้อนว่า “ห้องเรียนไทย” ยังมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านอื่น เช่น การวิจัย (75.83%) การเป็นผู้นำของสังคมไทย (74.95%) แม้จะอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ยังมีช่องว่างให้พัฒนา นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ประชาชนไม่ได้มองมหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นเพียง "โรงงานผลิตบัณฑิต" เท่านั้น แต่ยังคาดหวังถึงมหาวิทยาลัยไทยว่าควรมีบทบาทเชิงรุกในฐานะ
"ที่พึ่งของสังคม" ซึ่งแม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เกือบร้อยละ 62 (61.86%) ของประชาชนก็มองว่ามหาวิทยาลัยยัง “พอจะพึ่งพาได้” และให้คะแนนภาพรวมมหาวิทยาลัยในประเทศไทยถึง 7.35 คะแนน จากคะแนนต็ม 10

ความคาดหวังในโลกใหม่ จาก “ห้องเรียน” สู่ “สนามจริง” ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เศรษฐกิจดิจิทัล และ Soft Power สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นจากมหาวิทยาลัยไทยคือการ เปลี่ยนบทบาทจากการผลิตความรู้เป็นการใช้ประโยชน์จากความรู้ ผลโพลชี้ชัดว่า
ความคาดหวังอันดับ 1 คือ การวิจัยที่นำไปใช้งานได้จริงและสร้างรายได้จริง (28.17%) รองลงมาคือการปรับหลักสูตรให้ตรงกับตลาดแรงงาน (28.03%) และการส่งเสริม Soft Power ไทยผ่านกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม (23.01%)  นี่คือ “ทิศทางที่ชัดเจน” ของสังคมไทยที่ต้องการเห็นมหาวิทยาลัยไทยเป็น “พลังขับเคลื่อนประเทศ” อย่างแท้จริง

จุดแข็ง-จุดอ่อน มองอย่างเป็นระบบ ประชาชนมองว่า “ความหลากหลายของหลักสูตร” คือ จุดแข็งอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทย (75.21%) ตามด้วยคุณภาพของบุคลากร/อาจารย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย สิ่งเหล่านี้คือทุนทางวิชาการที่สามารถต่อยอดได้หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

ในทางตรงกันข้าม จุดอ่อนที่เด่นชัดของมหาวิทยาลัยไทยคือ การเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ (66.38%) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตในโลกจริง นอกจากนี้ ยังพบว่าบางหลักสูตรไม่ทันสมัย และเปิดโอกาสการได้รับทุนการศึกษาหรืองบประมาณยังไม่เท่าเทียมหรือไม่ทั่วถึง ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยจำเป็นต้อง “ฟังเสียงประชาชน” และเร่งปรับตัว

มหาวิทยาลัยในฐานะ “หุ้นส่วนของสังคม” ประเด็นนี้รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวผ่าน “3 แกนยุทธศาสตร์” ได้แก่ 1) การปฏิรูปการเรียนการสอนจากการสอนเพื่อสอบ สู่การสอนเพื่อใช้ได้จริง 2) การวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จริง เปลี่ยนจากตีพิมพ์วิชาการ สู่การแก้ปัญหาชุมชนและเศรษฐกิจ และ 3) การมีบทบาทต่อสังคมผ่านแนวคิด University Social Responsibility (USR) และ Service Learning หรือการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ด้วยการให้บริการสังคม

จากผลโพลสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ จากผลโพล "มหาวิทยาลัยไทยในสายตาประชาชน" นี้ไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่คือ “เสียงสะท้อนจากสังคม” ที่ชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยต้องไม่ยึดติดกับบทบาทแบบดั้งเดิม และพัฒนาก้าวสู่การเป็น “สถาบันปัญญาเพื่อสังคม” การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ จะต้องไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนหลักสูตรเท่านั้น แต่คือการเปลี่ยน “วัฒนธรรมการทำงาน” ของมหาวิทยาลัยด้วย

หากมองในภาพใหญ่ การเปลี่ยนผ่านของมหาวิทยาลัยไทยจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ เช่น BCG Economy, Thailand 5.0, หรือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น พร้อมเปิดประตูสู่โลกผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติ สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงบนความไม่แน่นอน เช่น  ผลักดันการวิจัยเชิงใช้ประโยชน์ (Applied Research) ในทุกสาขา พัฒนากลไก Feedback Loop จากผู้ใช้บัณฑิต เพื่อปรับหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพิ่มบทบาทภาคประชาสังคมในกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย จัดตั้ง "Innovation Sandbox" ในมหาวิทยาลัยเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยกับธุรกิจ สร้างระบบ “Digital Twin” ทางการศึกษา เพื่อออกแบบเส้นทางการเรียนเฉพาะบุคคล ฯลฯ

โพล "มหาวิทยาลัยไทยในสายตาประชาชน" นี้ ตอกย้ำให้รู้ว่า "มหาวิทยาลัยไทยควรเป็นอย่างไร" พร้อม ๆ กับสะท้อนว่า "สังคมไทยต้องการมหาวิทยาลัยแบบไหน" ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย จะต้องฟังเสียงของประชาชนและร่วมกันปักหมุดใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยไทยให้ยืนได้อย่างมั่นคงและสง่างามต่อไป ทั้งนี้สามารถติดตามอ่านผลโพล “มหาวิทยาลัยไทย” ในสายตาประชาชน ฉบับเต็มได้ที่ https://dusitpoll.dusit.ac.th/polls/ ครับ