เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

โลกกำลังปั่นป่วนโกลาหลด้วยสงครามการค้า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องตั้งหลักใหม่ และต้องพิจารณา “อาวุธอันเดียวที่เหลืออยู่ของคนยาก คือวัฒนธรรม” นำมาใช้ เหมือนที่เจมส์ ซี สก็อต เขียนไว้ใน “อาวุธคนยาก การต่อสู้รายวันของชาวนา” งานวิจัยที่รัฐเคดะห์ ที่มีคนมาเลย์เชื้อสายไทยอาศัยอยู่เป็นแสน

ประเทศไทยไม่สามารถสู้รบกับมหาอำนาจอย่างอเมริกาด้วย “อาวุธการค้า” ธรรมดา แต่น่าจะสู้ด้วย “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” ซึ่งหัวใจคือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่องค์การสหประชาชาติก็ยังยอมรับนับถือให้เป็นฐานคิดสำคัญของ SDG (2015-2030) เพื่อบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” โครงการร่วมของนานาชาติ

ปัญหาสำคัญ คือ คนไทยเราไม่เข้าใจ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ “เกิดได้ถ้าหัวใจปรารถนา” อาจจะท่องจำ “สามห่วงสองเงื่อนไข” แล้วถกเถียงกันวุ่นวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงบอกว่า “เราต้องการเพียงบอกว่า ทำอย่างไรคนจะพึ่งตนเองได้และมีความสุข”

“การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้” ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าต้องอยู่อย่างลำบากยากจน มาตรฐานการรู้จักพอนั้น ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ไขสือ

เศรษฐกิจวัฒนธรรม คือ เศรษฐกิจที่สืบสานคุณค่าของการพึ่งพาตนเองของวิถีชุมชน มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการจัดการการผลิตการบริโภคให้พอเพียงทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ ให้เกิดความสมดุล

มีการจัดการตนเองเพื่อรองรับกับกระแสสังคมกระแสบริโภคที่มีความรุนแรงจำเป็นต้องอาศัยคุณธรรม ความรู้และระบบที่มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งการประยุกต์ การคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากเค้าโครงและรากฐานเดิมที่ล้าสมัยให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ชุมชนอยู่ “รอด-พอเพียง-มั่นคงยั่งยืน” ได้

ได้อาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาทฤษฏี 3 S (Survived, Sufficient, Sustainable) กล่าวคือ รอดจากหนี้สินและความยากจน รอดจากความแตกแยกรุนแรง รอดจากความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม และปัญหาอื่นๆ เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ ช่วยให้ขึ้นฝั่ง ตั้งหลักและพัฒนาตนอย่างมั่นคงยั่งยืน ไม่ถูกพัดพาลงทะเลอีก

ที่ผ่านมามีความพยายามจากทุกฝ่ายในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาวิถีแห่งความพอเพียง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปโดยง่าย มีข้อจำกัดและปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากระบบเดิมและกระแสหลักที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลายฝ่ายที่พยายามนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์จึงมักหยุดอยู่ที่รูปแบบหรือกิจกรรมบางอย่างที่เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาโดยมิได้นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างรอบด้านและกับการพัฒนาชุมชนแบบบูรณาการ

ขอนำแนวคิดของ “โรเบิร์ต มันเดล” ที่มาปาฐกถาที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550 เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เขาคือศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสต์ที่มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบล สรุปได้ว่า

“เศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และยังไม่เข้มแข็งพอ เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายรวมของประเทศ ประกอบด้วยการบริโภค ภาคเอกชน การลงทุนของธุรกิจ การใช้จ่ายภาครัฐบาล การนำเข้าและการส่งออกแล้วสามารถนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งของภาคครัวเรือนที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของระบบเศรษฐกิจ”

“หากการบริโภคภาคครัวเรือน คือ บริโภคอย่างพออยู่พอกิน อย่างมีเหตุมีผลตามอัตภาพของแต่ละครัวเรือน จะทำให้ครัวเรือนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจครอบครัว คือสร้างการออมภาคครัวเรือนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเงินออมภายในประเทศมีพอเพียงต่อการลงทุนก็จะทำให้ภาคธุรกิจลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้การไหลของเงินทุนจากต่างประเทศที่มีความเร็วพอที่จะทำร้ายเศรษฐกิจในประเทศมีการชะลอลง”

“เมื่อครัวเรือนมีการบริโภคอย่างมีเหตุมีผลและพอประมาณตามอัตภาพแล้ว จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพลดลง ปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศก็น้อยลง ทำให้เศรษฐกิจภายใน ประเทศเข้มแข็งขึ้นได้”

“การดำเนินภาคธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะปรับเป้าหมายของการทำธุรกิจที่ไม่มุ่งแต่การเร่งสร้างกำไรสูงสุดเป็นสำคัญโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดวิกฤติตามมา เป็นการมุ่งเน้นการสร้างผลกำไรที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืนในระยะยาวโดยคำนึงถึงความมั่นคงของบุคคล ชุมชน และสังคม ดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

“การพัฒนาประเทศด้วยนโยบายมหภาคบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายการคลังในฐานะที่เป็นต้นเหตุของการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศเป็นจำนวนมากจึงถูกควบคุมให้อยู่ในความพอดี”

“ด้วยเหตุที่ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงอาจจะชะลอการบริโภคและการนำเข้า เนื่องจากประชาชนมีพื้นฐานหยั่งลึกในหลักศาสนาและวัฒนธรรมของเอเชีย ก็จะลดการกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย การขาดดุลการค้าจึงมีแนวโน้มลดลงโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพามาตรการกีดกันทางการค้า การเคลื่อนย้ายปัจจัยทุนระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญน้อยลง”

สังคมไทยต้องกลับไปตั้งหลักสัก 4 ก้าว “คืนสู่ธรรม คืนสู่ฐาน คืนสู่ธรรมชาติ คืนสู่รากเหง้า” เอาความเชื่อมั่นที่หายไปกลับคืนมา หาทาง “พึ่งตนเอง” ให้มากที่สุด ด้วยต้นทุนที่มีอย่างพอเพียง “ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม”