ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ต่อจาก EP 2

บทบาทของภาคเอกชนในกิจการของรัฐและกิจกรรมของชาติ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมฝันอยากเห็น

 ไม่ได้หมายความว่าในปัจจุบันนั้นบทบาทของเอกชนนั้นไม่มี หากแต่บทบาทของภาคเอกชนสามารถมีเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการหาเงินเข้าประเทศและเศรษฐกิจของชาติในภาพรวม ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ เพราะโดยธรรมชาติของภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจคือการ “หากำไร” และกำไรเหล่านั้นคือสิ่งสำคัญที่แง่ของเงินที่จะไหลกลับเข้าสู่รัฐ กลายเป็นงบประมาณในการทำนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งภาครัฐต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ภารกิจหาเงินเหล่านี้ เป็นจุดแข็งของภาคเอกชน

ต้องแยกให้ออก ระหว่างเรื่องหาเงินที่เน้นกำไร กับ นโยบายสาธารณะที่ไม่ได้เน้นกำไร

แต่การจะเพิ่มบทบาทของเอกชนได้ ต้องมาควบคู่กับการปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนฐานะจาก “ผู้คุมกฎ” ไปสู่การเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถทำภารกิจหาเงินได้ง่ายขึ้น การที่คนจะลุกขึ้นมาทำธุรกิจต้องถือว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติด้วยเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงเงินหมุนเวียนที่มากขึ้น ไม่ใช่จะทำธุรกิจสักอย่าง ก็ต้องมัวปวดขมับกับระเบียบมากมาย เรียกว่า ลำพังทำให้ได้กำไรก็เหนื่อยแล้วยังต้องมารบกับภาครัฐอีกแทนที่จะได้รับการช่วยเหลือ แล้วจะไปคาดหวังการแข่งขันกับต่างชาติ รวมถึงเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่รัฐได้อย่างไร หลายต่อหลายคนหันหน้าไปสู่การทำธุรกิจสีเทาเพราะมีต้องวุ่นวายแถมได้เงินมาก แต่เงินเหล่านั้นก็ไหลออกนอกระบบเสียหมด ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่อส่วนรวม

นโยบายด้านเศรษฐกิจควรได้รับการพูดคุยและเปิดช่องให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท ยกตัวอย่างเช่น การจะขึ้นค่าแรง ควรเป็นนโยบายที่เกิดจากการพูดคุยอย่างน้อยสามฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ จึงจะมองเห็นสมการที่เกิดสมดุล และสามารถทำได้จริงแบบสมเหตุสมผลมากที่สุด มิใช่คิดขึ้นเองโดยฝ่ายการเมืองและฝ่ายรัฐเพียงด้านเดียว ที่โดยมากมักนะจำไปสู่ทางตันหรือความไม่ลงรอยกันในสังคมเมื่อนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นเรื่องคลาสสิคที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในด้านเศรษฐกิจ ผมยังฝันเห็นการวางเป้าหมายและผลักดันให้เอกชนไทยเป็น “เจ้าของกิจการ” มากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเป็น “ผู้ผลิต” ให้แก่ต่างชาติ เป้าหมายของชาติต้องชัดเจนดังที่ได้กล่าวไปแล้วใน EP2 และในด้านเศรษฐกิจก็ควรต้องตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกันโดยมีนัยยะของการพัฒนาไปเป็นเจ้าของกิจการ ที่ผ่านมาเรามัวให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างชาติเสียเป็นหลัก เช่น BOI หรือ EEC ก็ดี ล้วนอยู่บนพื้นฐานของการดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนทั้งสิ้น ซึ่งคนไทยล้วนไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าเหล่านั้น แต่เป็นเพียงผู้ให้ใช้ที่ดินตั้งโรงงาน และเป็นแรงงานราคาถูก ซึ่งสิ่งที่ได้เป็นประโยชน์หลักๆแก่ประเทศไทย คือ ภาษี ค่าวัตถุดิบบางประเภทที่มีในไทย (วัตถุดิบบางประเภทก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ) ค่าแรง และของแถมอันได้แก่ มลภาวะและกากของเสียจากการผลิต สุดท้ายคนไทยก็กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าเหล่านั้นอีกครั้งเมื่อมันถูกตีตราและนำเข้าสู่ประเทศ แน่นอน...ในราคาที่บวกกำไรแล้ว

ในขณะเดียวกันแต่เรากลับลืมเอาสรรพกำลัง เวลา และงบประมาณมาทุ่มเทให้คนไทยเป็นเจ้าของเสียเอง ธุรกิจบางประเภทที่เติบโตแข็งแรงในระดับที่สามารถไปสู่ระดับโลกได้ ก็ควรได้รับการสนับสนุนให้ออกสู่สากล จะออกไปตั้งฐานการผลิตภายนอกบ้างก็ไม่ผิด หากนั่นจะทำให้ต้นทุนลดลงและสร้างรายได้ที่มากขึ้น ธุรกิจบางประเภทที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการผลิตก็ควรได้รับการสนับสนุนให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ ทั้งหมดนี้รัฐควรเป็นผู้ริเริ่มในการทุ่มเท ผ่านการกระตุ้นต่างๆ เช่น การให้สิทธิพิเศษ การช่วยเหลือในด้านส่งออก การช่วยเหลือการนำเข้าวัตถุดิบบางอย่าง หรือแม้แต่การช่วยเจรจานำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาให้ภาคเอกชน รวมไปจนถึงการใช้กลไกของรัฐในการช่วยเปิดตลาดและหาตลาดให้แก่ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของการทูตและผู้นำประเทศ เป็นต้น

ซึ่งการเป็นเจ้าของนั้น สามารถสอดคล้องกับจุดแข็งของชาติได้ด้วยเช่นกัน เพื่อจะเป็นการลดต้นทุนและใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่นการเกษตร ที่เป็นจุดแข็งของชาติ การพัฒนาภาคธุรกิจไปสู่การเป็นเจ้าของอาจมองสิ่งใกล้ตัว เช่น การผลิตยางรถยนต์ ที่สามารถนำยางจากเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการผลิต เช่นนี้ วัตถุดิบจะมีมากมาย ได้ประโยชน์กับเกษตรกร เหลือแต่เพียงการส่งเสริมจากรัฐในการผลิต เทคโนโลยี และสำคัญที่สุด การพัฒนาตลาดให้ไปแข่งขันในตลาดโลก

สรุปให้เห็นภาพง่ายๆ ผมอยากเห็นบทบาทของรัฐที่จะส่งเสริมภาคเอกชนให้หาเงินได้เต็มที่ สร้างตัวตนในฐานะเจ้าของกิจการ เจ้าของสินค้า และออกไปสู่ตลาดโลกเพื่อนำเงินเข้าประเทศ แทนที่บทบาทของรัฐที่มักจะภูมิใจอยู่กับการนำนักลงทุนเข้าสู่ประเทศเพียงอย่างเดียว ดังที่เป็นมาแต่นานนม

เมื่อผ่านการเรียนหนังสือ เข้าสู่วัยทำงาน ด้วยระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว สัปดาห์หน้าเรามาว่ากันต่อให้ด้านชีวิตความเป็นอยู่

ยังไม่เอวังครับ