“ไอโอ” (IO) ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operation หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ซึ่งในอดีตถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงคราม เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตนเองโดยการทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามด้วยกลยุทธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างอิทธิพลการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม ทั้งการปล่อยข่าวลวง การใส่ร้าย การโจมตี มีทั้งวิธีการทางด้านสังคมและสื่อออนไลน์ เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่พยายามควบคุมความคิดและความเชื่อของศัตรู บิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างเรื่องราวเท็จในสื่อข่าวที่มีอยู่ Information Operation เป็นวิธีการที่เริ่มใช้มานาน ซึ่งมีรูปแบบเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2003 และถูกนำมาเปิดเผยในปี 2006 ขยายผลจากหลักการที่เกี่ยวข้องกับสงครามสารสนเทศในมุมมองของกองทัพสหรัฐฯ” (ร้อยเรื่องเมืองไทย เว็บไซต์หอสมุดรัฐสภา อารยา สุขโต,https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2566-sep1)
ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาศึกษาปฏิบัติการข่าวสาร ( IO ) ทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน
โดยพล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวในที่ประชุมว่า กองทัพบกไม่มีการทำ IO แต่คำนี้เกิดขึ้นกับทั่วโลก ซึ่งใช้ปฏิบัติการทางทหาร คือการใช้ IO เป็นเครื่องมือสื่อสารในการรบ และอยู่ในภารกิจป้องกันประเทศ ทั้งนี้เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย กองทัพจึงใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจและแก้ไขในสิ่งที่เข้าใจผิด ด้วยวิธีประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมากองทัพพยายามที่จะแก้ไขเรื่องที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
โดยเน้นไปที่เรื่องการสร้างความรับรู้ เพื่อปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีขององค์กร แต่ทั้งหมดเป็นการกระทำโดยเปิดเผย รวมถึงเป้าหมายทั้งหมด คือ ประชาชน และนโยบายของเราไม่เคยคิดว่าความเข้าใจทั้งหมดเป็นเรื่องเลวร้าย แต่เป็นผลดีที่จะทำให้เราได้ชี้แจง ไม่มีลักษณะก้าวร้าว หรือทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีต่อกัน จึงไม่เรียกว่าปฏิบัติการ IO แต่มันคือการสร้างความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ หรือการสร้างการรับรู้
“ วันนี้เราใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารเป็นหลัก หากพบว่าไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม ก็มีขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเรื่องการหมิ่นประมาท ที่ดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยขั้นตอนในการดำเนินการมีเป้าหมาย คือ บุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก อาจรวมไปถึงนักการเมืองหรือนักวิชาการด้วย ที่จะอยู่ในกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากสังคมให้ความสนใจ ซึ่งการติดตามจากกองทัพไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะสุดท้ายเราจะต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริง” พล.ต.วินธัย กล่าว
เราเห็นว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่ประเทศทั่วโลกใช้ในการปกป้องอธิปไตย สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดและต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส เพราะพรรคการเมืองบางพรรคก็มีปฏิบัติการข่าวสาร แจกข้อความซ้ำๆกันไปโพสต์ในโซเชียล อย่าลืมว่าในกลุ่มนั้นก็มีบุคคลของหน่วยความมั่นคงแฝงตัวอยู่เหมือนกัน อย่าคิดว่าเขาไม่รู้เสียล่ะ