หลังเกิดโศกนาฏกรรมตึกถล่มจากผลกระทบแผ่นดินไหวจากประเทศเมียนมา ทำให้มีการพูดถึงเรื่องของระบบเตือนภัยสาธารณะอีกครั้ง ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตรียมทดสอบระบบการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast รมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศแผนการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับเล็ก (ภายในอาคาร)
ระดับกลาง (ระดับอำเภอ)
ระดับใหญ่ (ระดับจังหวัด)
การทดสอบจะส่งข้อความเตือนภัยและเสียงแจ้งเตือนเข้าสู่โทรศัพท์มือถือโดยตรง ซึ่งจะไม่รบกวนการใช้งานปกติของโทรศัพท์แต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ปภ. กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ
กำหนดการทดสอบ
ระดับเล็ก: ทดสอบภายในศาลากลางและศูนย์ราชการใน 5 พื้นที่ เช่น เชียงราย อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (กทม.) วันที่ 2 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น.
ระดับกลาง: ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง 5 จังหวัด เช่น ลำปาง นครสวรรค์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กทม. วันที่ 7 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น.
ระดับใหญ่: ครอบคลุมทั้งจังหวัด เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ วันที่ 13 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น.
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ. เปิดเผยว่า ระบบ Cell Broadcast นี้สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็ว แม่นยำ และครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายได้อย่างทั่วถึง แต่ในระยะแรกจะใช้งานได้เฉพาะ
โทรศัพท์ที่รองรับ 4G และ 5G
ระบบ Android เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป
ระบบ iOS เวอร์ชัน 18 ขึ้นไป
สำหรับโทรศัพท์รุ่นเก่ากว่า (2G/3G หรือ iPhone 10 ลงมา) ที่ไม่รองรับการอัปเดต จะได้รับการแจ้งเตือนผ่าน SMS แทน ส่วน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ใช้บริการโรมมิ่งหรือซิมไทยก็จะได้รับการแจ้งเตือนเช่นกันเมื่ออยู่ในพื้นที่เป้าหมาย
ขณะที่นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ให้บริการ LINE และ Facebook ประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันในอนาคต หากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยให้ข้อมูลแจ้งเตือนภัยสามารถกระจายถึงผู้ใช้งานโซเชียลได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น
เราเห็นว่าควรเร่งนำระบบกระจายสู่ผู้ใช้งานโซเชียลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จะช่วยลดความสูญเสียได้มาก