สถาพร ศรีสัจจัง

วันที่ 4 มกราคม 2568 เป็นวันครบ 21 ปีการปล้น “ค่ายปิเหล็ง”!

“ค่ายปิเหล็ง” คือชื่อซึ่งชาวบ้านใช้เรียกที่ตั้งกองกำลังทหารไทยที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

การก่อเหตุครั้งนั้น ข้อมูลบอกว่า ตอนเช้ามืดของวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 ผู้ก่อเหตุจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน บุกเข้าปิดล้อมและบุกเข้าปล้นค่ายทหารดังกล่าว ทำให้ทหารเวรเสียชีวิตทันทีรวม 4 คน และสามารถปล้นปืนจากคลังแสงไปได้ทั้งสิ้น 413 กระบอก ส่วนใหญ่เป็นปืนประเภทที่รู้จักกันในขื่อ “เอ็ม 16”

การบุกเข้าปล้นปืนที่อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่เมืองไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มีคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นครั้งนี้ เหมือนกับเป็นการ"ตบหน้า"นายกรัฐมนตรีที่คนไทยรู้จักกันในนาม “อ้ายแม้ว” (บางคนออกเสียงเป็น “ไอ้แม้ว”) ที่กำลังเชื่อมั่นในพลังศักยภาพแห่งความเก่งของตนเองจากการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายก่อนหน้านี้-เข้าฉาดใหญ่!

เขาให้สัมภาษณ์ตาม “สไตล์” ที่ไม่มีใครเหมือนหลังจากนั้นไม่นานนัก เมื่อถูกถามว่าเหตุการณ์นี้คือฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ใช่หรือเปล่า(ในทำนองให้เครดิตเพราะตกใจที่เห็นข้อมูลว่ากลุ่มคนที่มาปล้นนั้นมีเป็นจำนวนมาก มีอาวุธทันสมัยครบมือ และทำงานอย่างเป็นระบบ)…ว่า

“…ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก…!”

และหลังจากนั้นเพียงวันเดียวคือในวันที่ 5 มกราคม 2547 รัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร(โดยแม่ทัพภาค 4) ก็ประกาศพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกในหลายอำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ต่อมามีการประกาศในบางอำเภอของจ.สตูล และจ.สงขลา

แม้จะมีความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงบ้างในภายหลัง แต่ “บรรยากาศ” ของกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมพิเศษใน “พื้นที่พิเศษ” แห่งนี้ ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน แบบลุ่มๆดอนๆมาจนถึงปีปัจจุบัน รวมถึง 21 ปีเข้าแล้ว!

(บทแทรก : มีกวีท่านหนึ่ง นาม “ปัทมาภรณ์ เชื้อพระยา” ได้เขียนบทกวีถึงเรื่อง “ไฟใต้” ไว้ชิ้นหนึ่ง ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดสงขลา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังปีเกิดเหตุการณ์เพียง 5 ปี ในชื่อเรื่อง “ไฟใต้ : ตัวการ”ว่า……

“ถ้าถามว่ามือใดจุดไฟใต้/จนลุกโหมลามไหม้ใกล้อวสาน/ตอบว่าไฟถูกกระพือเพราะมือมาร/หัวโจกทุนเผด็จการโคตรโกงกิน/ผู้เทิดทูนเงินตรากว่าชีวิต/ทุกย่างก้าวล้วนคิดเพื่อเงินสิ้น/ทอดตาทั่วดินแดน-ทั่วแผ่นดิน/หาใครปลิ้นปลอกเหมือนเป็นไม่มี/เพราะมักง่ายต่ำช้าบ้าอำนาจ/ชนในชาติจึงต้องแตกแยกทุกที่/และเมืองใต้ชายแดนเคยดีดี/กลับเป็นแดนมิคสัญญี-เพราะมือมัน!/เพราะดูถูก,เพราะอยากดัง,สั่งอุ้ม-ฆ่า/ไฟสุมขอนที่ซาจึงพลิ้วสั่น/ไฟจึงลุก-ระเบิดดังทั้งคืนวัน/เพื่อตอบโต้เพื่อแย้งยันคนจัณฑาล!/ถ้าถามว่ามือใดจุดไฟใต้/จนคนร้อนเมืองไหม้ใกล้อวสาน/ตอบว่าไฟถูกกระพือเพราะมือมาร/หัวโจกทุนเผด็จการ-ตัวนั้นเอง!ฯ”)

ย้อนกลับไป ณ ปีต้นเหตุของเหตุการณ์ คือปี 2547 อีกครั้ง!

และแล้วสิ่งที่คุณทักษิณ  ชินวัตรเรียกว่า “โจรกระจอก” ก็สำแดงเดชให้เห็นในช่วงปีที่เขาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศไทยนั่นเอง!

กล่าวคือ ในปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์ “บาดแผล” ทางสังคมขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) กับ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา(จะนะ/เทพา/นาทวี และสะบ้าย้อย)น่าจะยากลืมเลือนได้!

อย่างน้อยๆก็มีเหตุการณ์ใหญ่ๆที่มีคนตายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน ทำให้พ่อแม่พี่น้องและลูกหลานของคนในพื้นที่(ผู้ถูกกล่าวหาว่าคือผู้ก่อความไม่สงบ)ดังกล่าว ต้องเสียชีวิตและถูกกระทำจากทางการบ้านเมืองอย่างน่าอเน็จอนาถยิ่งในหลายเรื่อง

เฉพาะเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 วันเดียว มีคนเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 113 ราย เป็นชาวบ้าน 108 ราย และทหารตำรวจ 5 ราย

คือ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานีอันโด่งดัง 34 ศพ เหตุการณ์ที่อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 19 ศพ เหตุการณ์ที่อ.กรงปินัง จ.ยะลา 17 ศพ เหตุการณ์ที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี 13 ศพ  เหตุการณ์ที่อ.เมือง จ.ยะลา 12 ศพ  อ.บันนังสตา 8 ศพ ที่อ.ธารโต อีก 5 ศพ และที่อ.หนองจิก จ.ปัตตานีอีก 2 ศพ !

แล้วบาดแผลอันหนักหน่วงแห่งความทรงจำ-คือเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมที่อ.ตากใบ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ก็เกิดตามมา!

เรื่องนี้คงไม่ต้องอภิปรายในรายละเอียดมาก เพราะมีการพพูดถึงกันในสังคมไทยมาอย่างละเอียดหลายแง่มุมแล้ว เพียงอยากย้ำให้เห็นความ “พร่อง” และ ความ “อัปลักษณ์” ในการจัดการกับประชาชนของ “อำนาจรัฐ” ไว้อีกสักหน่อยเถอะ!

มีผู้เขียนบทความบรรยาย “ฉาก” ของเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งดังนี้!

“…ระหว่างการเดินทาง (ไปสอบสวนคุมขังที่ค่ายทหาร “อิงคยุทธบริหาร” จ.ปัตตานี) ผู้ประท้วงถูกบังคับให้นอนทับกันหลายชั้นในรถบรรทุกอย่างแออัด การเดินทางกินเวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ภายใต้ความร้อนอบอ้าวและความแออัด ทำให้ผู้ชุมนุมขาดอากาศหายใจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน (เสียชีวิตบนรถบรรทุก) นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการสลายการชุมนุมอีก 7 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 85 คน”