บนเวทีวิชาการเรื่อง “มุมมองทางการเมือง ต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม”ที่มีตัวแทนของพรรคการเมือง 10 พรรค ซึ่งเตรียมลงเลือกตั้งในปี2562 เข้าร่วมนั้น ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านกระบวนการสร้างรายได้ของประชาชน ลดการผูกขาดของกลุ่มทุน ยกระดับการศึกษาและปฏิรูประบบยุติธรรม
ในขณะที่ ธนาคารโลก รายงานความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทย พบว่า ไทยยังเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และยังมีความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง โดยหากพิจารณาจากจำนวเศรษฐีไทยที่ติดอันดับเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะปานกลางอัตราความยากจนของไทยจะลดลงอย่างช้าๆ ในพื้นที่ชนบท เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงพอ ขณะที่ด้านความเหลื่อมล้ำ ไทยยังมีปัญหาในด้านรายได้ ซึ่งส่งผลเสีย 2 ประการคือ
1.ความไม่เสมอภาคทางเศรษญฐกิจที่ทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิต
2.ความเหลื่อมล้ำยังทำให้การพัฒนาองค์กร และสถาบันต่างๆถดถอยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อการสร้างนวัตกรรมและการลงทุน
ขณะที่ในส่วนของการสร้างทุนมนุษย์เพิ่มขึ้น จะเป็นกุญแจของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและลดความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นได้ โดยพบว่าค่าดัชนีทุนมนุษย์ของไทย ซึ่งวัดจากระดับผลิตภาพที่คาดหวังจากคนทำงานในช่วงต่อไป เทียบศักยภาพที่พึงมีหากได้รับการศึกษาและสุขภาพที่ดี พบว่าอยู่ที่ 0.6 หรือสามารถผลิตศักยภาพเพียง 60% จากศักยภาพที่ควรมี 100% โดยพบว่า การศึกษายังเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากคนในพื้นที่ยากจนยังได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ด้อยกว่าคนในพื้นที่เมือง โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากและไม่มีประสิทธิภาพ
“แม้ว่าโดยเฉลี่ยเด็กไทยจะศึกษาในโรงเรียนมากกว่า 12.4 ปี แต่ความรู้ที่ได้จริงจากโงเรียนเทียบเท่า 8.6 ปี ขณะที่ในด้านสุขภาพไทยยังคงเผชิญจากโรคที่ไม่ติดต่อโดยคนไทยที่อายุ 15 ปี มีเพียง 85 % เท่านั้น ที่รอดชีวิต ได้จนถึง 60 ปี โดยโรคที่พบมาก คือโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ขณะที่การบาดเจ็บบนท้องถนน ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ธนาคารโลก เสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำของคนไทย ด้วยการจัดประเด็นสุขภาพ การศึกษา และการให้โอกาสเท่าเทียมกัน โดยในส่วนของการศึกษานั้น ธนาคารโลกมองถึงการมีโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ โดยควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีจำนวนครูที่มีความรู้ดีอย่างเพียงพอ และมีงบประมาาณเพิ่มขึน รวมทั้งให้อำนาจตัดสินใจในการจ้างครูที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการให้การศึกษาที่ดี
ขณะที่ในส่วนของแรงงานในปัจจุบัน การเสริมสร้างโอกาสและเพิ่มทักษะ ของแรงงานเป็นเรื่องจำเป็น โดยมองว่า หากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับปัจจุบัน และไม่ได้มีการปรับเปลี่นเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำอย่างเหมาะสมจะต้องใช้เวลาจากวันนี้ อีก 20 ปี ไทยจึงจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูง
แม้รายงานของธนาคารโลก จะพยากรณ์ว่าไทยอาจต้องใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กระนั้นหากบรรดาพรรคการเมืองที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งและเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง โอกาสที่ไทยจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูง และหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ อาจจะใช้เวลาเร็วกว่าที่คาดไว้