ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ต่อจาก EP 1
เมื่อเข้าโรงเรียนในระดับสูงขึ้น ผมฝันเห็นโรงเรียนระดับมัธยมยังคงเป็นสองภาษาเป็นอย่างต่ำอย่างต่อเนื่อง ครูควรได้รับการพัฒนาให้เป็นครูที่เหมาะสมกับระดับมัธยม โดยเฉพาะจิตวิทยาในการดูแลวัยรุ่น นักจิตวิทยาควรเป็นตำแหน่งที่บรรจุในทุกโรงเรียน การสอบไม่ควรเป็นสิ่งที่ใช้ตัดสินชีวิตเด็ก แต่ควรเป็นสิ่งเพื่อวัดความเข้าใจในบทเรียน ซึ่งมีแนวทางในการวัดหลายแบบและสามารถวัดด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในอนาคต เช่น การทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การผลิตสื่อเบื้องต้น เป็นต้น โดยเนื้อหาทางวิชาการควรเป็นเรื่องพื้นฐานเบื้องต้นและทักษะ เพื่อให้เยาวชนพอได้รู้ว่าตนนั้นถนัดทางใด อันจะนำไปสู่การเลือกศึกษาต่อในอนาคต
สิ่งที่จำเป็นสำหรับช่วงวัยมัธยมตั้งแต่มัธยมต้น คือการสอนเรื่องเพศศึกษา เพราะเด็กสมัยนี้โตเร็วกว่าในอดีต จึงจำเป็นต้องมีความรู้และมีภูมิคุ้มกันในเรื่องเพศ อันจะเป็นเกราะป้องกันอันดีสำหรับชีวิตวัยรุ่น เป็นเรื่องที่ไม่ควรรอจนถึงระดับมัธยมปลายอีกต่อไป
การวัดผลการศึกษาของเยาวชน โดยเฉพาะการตีตราว่าเด็กคนไหนเป็น Learning disorder ไม่ควรทำ หากจะทำก็ควรทำเพราะจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ไม่ใช่การกันเด็กออกจากระบบเพื่อเหตุผลทาง KPI อันจะเป็นการตัดโอกาสของเยาวชนได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพราะอย่าลืมว่า การวัดว่าใครเป็น Learning disorder อยู่บนพื้นฐานของการเรียนสายสามัญ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เยาวชนเหล่านั้นไม่ถนัด ซึ่งไม่แน่ Learning disorder เหล่านั้นอาจเกิดขึ้นจากตัวชี้วัด ไม่ใช่ที่เยาวชน
เมื่อเข้าถึงช่วงวัยแห่งอุดมศึกษา การพัฒนาการศึกษาต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนา “ตลาดงานและเป้าหมายของชาติ” เพราะการศึกษาที่ถูกต้องและแท้จริงนั้น คือการพัฒนาคนเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ เปรียบได้กับแผนกพัฒนาบุคลากรของบริษัท ที่จะต้องพัฒนาคนให้เหมาะสมกับ “สิ่งที่จะทำและเป้าหมายของบริษัท” ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก่อนการพัฒนาการศึกษาในระดับสูง คือการพัฒนากำหนดเป้าหมายของชาติให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าอนาคตต้องการจะเป็นอะไร จากนั้น จึงพัฒนาตลาดงานให้มีความสอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI กิจการต่างๆ องค์การของรัฐ รวมถึงเอกชน ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้เติบโตไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และการศึกษาระดับสูงที่จะพัฒนาคนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบดังกล่าวจะต้องมุ่งหน้าพัฒนาคนให้มีความรู้ดังกล่าว มิใช่อาชีพใดมีความสำคัญก็สำคัญอยู่อย่างนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นประเทศไทยในอดีตและปัจจุบัน ที่อาชีพที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆคือ หมอ วิศวกร การเงิน กฎหมาย เรื่อยมาโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Demand และ Supply จนหลายอาชีพกลายเป็นล้นตลาดและหางานยากขึ้นเรื่อยๆ
บทเรียนที่เห็นได้ชัดและเป็นตัวอย่างที่ดี คือ สหรัฐอเมริกา ที่ช่วงเวลาแห่งการแข่งขันไปอวกาศในยุค 1960-70 สหรัฐให้ความสำคัญกับการผลิตคนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอวกาศ สายวิศวกรรม จึงได้รับการผลักดันและได้รับความนิยม แถมยังมีงานที่ดีรองรับจำนวนมาก ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เป้าหมายเปลี่ยน การพัฒนาคนของชาติก็เปลี่ยนทิศทางเช่นกัน เช่นนี้ การพัฒนาคนจะสอดคล้องไปกับเป้าหมายของชาติและความต้องการของตลาดงานอยู่เสมอ
เมื่อพูดถึงการพัฒนาเป้าหมายของชาติ ผู้เขียนก็ฝันอยากเห็นชาติไทยตั้งเป้าหมายของชาติอย่างสอดคล้องกับรากเหง้าของคนไทยและยึดเอาจุดแข็งของชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะจะได้ประโยชน์กับคนหมู่มากและและจะแข่งขันรวมถึงเอาชนะชาติอื่นๆได้ง่ายกว่า เช่น การเกษตร ที่ไม่ควรละทิ้งอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นจุดแข็งที่แท้จริงทางภูมิศาสตร์และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหารที่จะทำให้แข่งขันและเป็นผู้นำได้ง่าย อย่างไรก็ดี เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การตั้งเป้าหมายอาจต้องทำเป็นสองเป้าหมายคู่ขนานกันไป เช่น การเป็นผู้นำทางการผลิตอาหาร และการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการเงิน เปรียบเสมือนรถไฟสองขบวนที่จะวิ่งคู่ขนานกันไป แต่จะเป็นสิ่งใดนั้น คงต้องอาศัยการระดมสมองช่วยกันคิดจากหลายคน หลายส่วน ทั้งรัฐ และ เอกชน โดยต้องให้ความสำคัญกับการมองความถนัด จุดแข็งของชาติ Demand และอนาคต ควบคู่กันไปทั้งหมด
บทบาทของเอกชนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ฝันอยากเห็น....
แต่จะต้องมาเล่าต่อไปใน EP 3
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
ยังไม่เอวังครับ