ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความเสียหายหลอกเงินประชาชนคนไทยหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2567 ที่ผ่านมาข้อมูลจาก Thai Police Online ระบุว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 มูลค่าความเสียหายมากถึง 77,360,070,295 บาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อป่องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงมีกฎหมายบังคับให้ธนาคารและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะต้องร่วมรับผิดชอบ หากพบว่ามีจุดอ่อนในระบบที่เปิดช่องให้เกิดการหลอกลวงประชาชนและส่งผลให้เกิดความเสียหาย
ล่าวุด นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นต้นมา
ธนาคารแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนหลักการตามพระราชกำหนดดังกล่าว โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อคิดเห็นและปรับปรุงเนื้อหากฎหมาย เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อันเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน
สาระสำคัญของพระราชกำหนดฉบับนี้ คือ การวางกลไกทางกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการระบบชำระเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องยกระดับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และมีส่วนร่วมในการชดเชยความเสียหาย หากมีการละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล
ในส่วนของ ธปท. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำประกาศเพื่อกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงินอย่างชัดเจน ประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมถึงมาตรการป้องกันการปลอมแปลงตัวตนในการทำธุรกรรม การจัดการบัญชีม้า รวมถึงการกำหนดขั้นตอนการรับแจ้งเหตุที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบในกรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ ธปท. ยังคงขอความร่วมมือจากประชาชนในการใช้บริการทางการเงินอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ และหมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดฉบับนี้ นับเป็นกฎหมายสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และส่งเสริมความปลอดภัยในการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน