สถาพร ศรีสัจจัง
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในพระบรมโกศ ทรงให้แนวคิดหรือ “ยุทธศาสตร์” ในการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งมี “ความแตกต่างทางวัฒนธรรม” กับคนกลุ่มหลัก (Majority) ของประเทศไทย เพราะมีชาติพันธุ์ ภาษา ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ ฯลฯ สำหรับให้ “ผู้บริหารประเทศไทย” ที่เรียกกันว่า “รัฐบาล” มายาวนานนักหนาแล้วว่า ต้องยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา”
นับเป็น “คี เวิร์ด” หรือ “คำที่เป็นกุญแจไข(ปัญหา)” ซึ่ง “ตรงๆ ง่ายๆ และชัดๆ” ที่สุดเท่าที่เคยมีการวางยุทธศาสตร์ของประเทศกันมา อันสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพที่เกิดจากการทรงเรียนรู้ ทรงมีประสบการณ์ตรง ทรงสามารถแยกปัญหาแก่นแกนออกจากปัญหากระพี้ ทรงมีพระเมตตาธรรม และ ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลยิ่งแล้ว
ไม่แน่ใจนักว่า “รัฐบาล” ไทยแต่ละชุดที่ผ่านมา ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและที่มาเพราะ การอื่นๆจะสามารถ “ถอดรหัส” แนวคิดของพระองค์ท่านได้สักแค่ไหนหรือเพียงใด
และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะสามารถ “แปร” แนวคิดดังกล่าวเป็น “ปฏิบัติการ” ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอาสาสมัคร(อส.) ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครู ตำรวจระดับล่าง พลฯทหาร จนถึงระดับผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นแม่ทัพ ผู้การ ผู้กอง หรือผู้พัน ที่ถือ “อำนาจ” และอาวุธไว้ในมือทั้งหลาย (ทั้งฝ่ายทหารและตำรวจนั่นแหละ) ฯลฯ ได้แค่ไหน หรือ อย่างไร
ยังมีเจ้าหน้าที่ประเภท “เทคโนแคร็ต” ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากอีกด้วย ทั้งฝ่ายสำคัญอย่างมหาดไทย และบรรดา “ข้าราชการ” ของทุกกระทรวงทบวงกรม โดยเฉพาะบรรดา “ครู” ของกระทรวงศึกษาธิการ พวกเขาได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ หลักการดังกล่าว จนสามารถสร้าง “สำนึก” หรือเกิด “จิตวิญญาณ” ของ “ผู้แก้ปัญหา” อย่างแท้จริงตามเจตนารมย์ขององค์ผู้พระราชทานนโยบาย “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ในระดับไหน?
และรัฐ(โดยระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่มักสุขสบายกันอยู่ในเขตเมืองใหญ่ด้วยข้ออ้างสารพัด)ได้แสดงความจริงใจและเข้าใจใน การ “ให้รางวัล” และ “ลงโทษ” ที่เป็นพิเศษไปจาก “เทคโนแคร็ต” ส่วนอื่น พื้นที่อื่น ที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง นอกเหนือไปจากการทวีคูณอายุราชการให้ยามเกษียณ จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยให้เล็กน้อยในแต่ละเดือน และเลื่อนขั้นเลื่อนยศให้เมื่อต้องพิการหรือเสียชีวิตในกรณีที่เกิดจากการกระทำของ “ผู้ก่อการร้าย” ฯลฯ
ที่สำคัญก็คือ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่เป็น “ผู้ปฏิบัติงานจริง” ในพื้นที่เหล่านั้นได้รับการ “พิจารณาคัดสรร” เอา “คนดีและเก่ง” เป็นพิเศษหรือไม่ เพื่อไปบรรลุหน้าที่การงานที่มีลักษณะ “พิเศษในพื้นที่พิเศษ” หรือยังคง “ใช้ใครก็ได้” แบบขอไปที ตามหลักราชการปกติที่เคยถือปฏิบัติกันมา?
ดังนั้นจึงมีสักกี่เปอร์เซ็นของเจ้าหน้าที่ ที่ “เข้าใจ” ปัญหา ของพื้นที่อย่างลึกซึ้งแท้จริงในทุกด้านจนสามารถ “ยึดกุม” อุดมการณ์ของนักแก้ปัญหาในนามของ “เจ้าหน้าที่รัฐตัวจริง” ได้ จนชาวบ้านยอมรับแบบหมดใจ?
มีสักกี่คนที่สามารถ “เข้าถึง” จิตใจของราษฎรในพื้นที่จนสามารถทำตัวเป็น “คนใน” (In group)ของชุมชนได้อย่างไม่ขัดเขินกลมกลืน?
มีสักกี่คนที่รู้ความหมายแท้ของคำ “พัฒนา” ว่า หมายถึงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง “จิตใจ” หรือ “รูปการจิตสำนึก” ของคนในชุมชนนั้นๆ คือ เปลี่ยนจาก “ไม่เข้าใจ” มาเป็น “เข้าใจ” จากความรู้สึก “เป็นคนละพวก” มาเป็นความรู้สึกแบบ “ก็คือพวก-เดียวกัน” (แม้คนละภาษาและศาสนา) มากกว่า การสร้างถนน สร้างสะพาน หรือ การสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ฯลฯ?
การต่อสู้เพื่อปูฐานความเข้าใจดังกล่าวนั่นแหละคือ “แนวรบด้านวัฒนธรรม” ที่สำคัญที่สุดในการชี้ขาดสงครามว่าจะแพ้หรือชนะอย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องอาศัย “ความรับรู้และเข้าใจร่วม” อย่างแท้จริงของ “เทคโนแคร็ต” ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่ใครๆชอบเรียกว่า “เชิงบูรณาการ” นั่นแหละ!
ในประเด็นนี้ คงต้องใช้ “ศิลปาการ” ทั้งแบบเก่า(มรดกวัฒนธรรมพื้นที่)และ “ของใหม่ที่สอดคล้อง” มาเป็นเครื่องมือ อันนี้คงต้องใช้ “มืออาชีพ” เข้าช่วย โดยการเอาเยาวชนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาผ่าน “เวิร์คช๊อป” ตามความ “สนใจพิเศษ” ของพวกเขาไห้ได้ ไม่ว่าจะด้านทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตย์ ถ่ายรูป) คีตศิลป์ (ดนตรี) ศิลปะการแสดง(เพลงลูกทุ่ง เพลงสมัยใหม่ ลิเกฮูลู มะโย่ง รองเง็ง ฯลฯ) ประณีตศิลป์(การทำอาหาร เสื้อผ้า และการหัตถศิลป์ทั้งหลาย) และสุดท้าย ที่สำคัญยิ่งคือด้านวรรณศิลป์ อันได้แก่ศิลปะการใช้ภาษาเพื่อเขียน(การเขียนเชิงสร้างสรรค์) ทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น(มลายู)
กระทรวงวัฒนธรรมช่วยคิดโครงการใหญ่ๆในเรื่องนี้ให้เป็นงานมาสเตอร์พีสของรัฐบาลหน่อยสิ ทำโครงการต่อเนื่องอย่างน้อยสัก 5 ปี รับรอง จะทำใหญ่แค่ไหนก็ใช้งบไม่มากไปกว่างบซื้อเรือรบ ซื้อกองบินเฮลิคอปเตอร์ หรือซื้ออาวุธหนักขุดใหญ่ๆสักล้อตหนึ่งดอก!
ถ้าเกิด “แนวรบด้านวัฒนธรรม” เชิงปฏิบัติการ เพื่อบรรลุหลักการของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ขึ้นจริง รับรองได้ว่า ความหวังของกระบวนการแก้ปัญหาพื้นที่ขายแดนภาคใต้อย่างถึงรากแก้ว ก็น่าจะสดใสขึ้นบ้างละมั้ง!