รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลให้ทักษะและความรู้แบบดั้งเดิมไม่พอเพียงต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในบริบทการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ต้องเร่งพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนให้ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ (Learning by Doing) จึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างทักษะใหม่ที่พร้อมทำงานทันที และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ได้พัฒนาแนวคิด "One World Library (OWL) to The University" เพื่อเปลี่ยนทุกพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็น "ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้" ที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยี และพฤติกรรมของ Net Generation เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทฤษฎี Learning Space ที่เน้นว่าพื้นที่ทางกายภาพมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเรียนรู้
หนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าว คือ "Poll Lab" ซึ่งพัฒนาโดยสวนดุสิตโพล เพื่อเป็น "พื้นที่การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ" ที่รองรับการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ทั้งด้านการวิจัย การสำรวจความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะทางภาษา ผ่านการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง โดยผสานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียน
แนวคิดสำคัญของโมเดล Poll Lab ตั้งอยู่บนหลักการ 5 ประการ คือ 1) การเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการจริง และบทบาทของผู้สอนเปลี่ยนจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็น "โค้ช" หรือ "ผู้อำนวยการเรียนรู้" 2) การแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียน โดยเน้นการเสริมสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ 3) การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning) กิจกรรมสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ การพึ่งพาอาศัยกัน การพัฒนาทักษะการสื่อสาร และการรับผิดชอบร่วมกัน 4) การพัฒนาทักษะวิชาชีพ (Professional Skill Development) มุ่งพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในมิติของความรู้ ทักษะปฏิบัติ และเจตคติที่เหมาะสมต่อการประกอบวิชาชีพ และพื้นที่การเรียนรู้ออกแบบให้เอื้อต่อการฝึกฝนทักษะจริง และ 5) พื้นที่การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย (Learning Spaces in Universities) เน้นการสร้าง "พื้นที่เรียนรู้แบบเปิด" ที่เชื่อมโยงระหว่างกายภาพ ดิจิทัล และสังคม รองรับการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ และส่งเสริมบทบาทของผู้เรียนในฐานะเจ้าของการเรียนรู้
โครงสร้างของการเรียนรู้ใน Poll Lab ออกแบบให้เป็น "Open Learning Space" ที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติจริง โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติทักษะทางเทคนิค มิติทักษะทางภาษา และมิติทักษะวิชาชีพ กิจกรรมแต่ละชุดออกแบบภายใต้แนวคิด "Learning Lab" คือการใช้กระบวนการทดลอง เรียนรู้ และสังเคราะห์องค์ความรู้ร่วมกับผู้สอนที่มีบทบาทเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยความสะดวก
ผลการดำเนินกิจกรรมบน “Poll Lab Space” ที่ผ่านมา พบว่า ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ทัศนคติ (Attitude) เช่น การส่งเสริมความเป็นมืออาชีพ การมีจิตสำนึกต่อสังคม ทักษะ (Skill) เช่น ภาษา เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล และการสื่อสารระหว่างวิชาชีพ และองค์ความรู้ (Knowledge) เช่น การวิจัย การสื่อสารมวลชน และประเด็นทางสังคมร่วมสมัย ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พบว่า มีระดับ "ดี" ถึง "ดีมาก" โดยกิจกรรมที่เน้นการลงมือปฏิบัติได้รับความนิยมสูงสุด
ความสำเร็จของ Poll Lab เกิดจากการสร้าง "ระบบนิเวศการเรียนรู้" ที่ครอบคลุมทั้งปัจจัยนำเข้า (บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ทรัพยากรการเรียนรู้ และเครือข่ายทางวิชาการ) กระบวนการจัดการเรียนรู้ (เน้นการบูรณาการแนวคิด Learning by Doing กับการพัฒนา Attitude-Skill-Knowledge (ASK) และผลลัพธ์และผลกระทบ (การพัฒนาทักษะในระดับปัจเจกและการสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม)
เมื่อเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติระดับนานาชาติ การพัฒนา "Poll Lab" มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และนวัตกรรมการศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เช่น MIT Media Lab, Stanford d.school และ Learning Environments Applied Research Network (LEaRN) ของ University of Melbourne โดยมีจุดเด่นเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
นอกจาก Poll Lab จะเป็น "พื้นที่ฝึกทักษะ" แล้วยังเป็น "พื้นที่วิจัยจริง" ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตความรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและชุมชนวิชาชีพ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนา ASK สามารถเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม โมเดล Poll Lab ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญของการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่าง "ข้อมูล – พื้นที่ – คน" อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ได้
คำถามที่น่าคิดคือ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค AI มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันการศึกษาพร้อมปรับตัวแล้วหรือยัง? หรือยังคงยึดติดกับห้องเรียนสี่เหลี่ยมและการสอนแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์โลกอนาคต? หวังว่า Poll Lab จะเป็นโมเดลหนึ่งที่จุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยในยุคนี้ควรเป็นแค่ "สถานที่เรียน" หรือควรเป็น "พื้นที่แห่งการปลดปล่อยศักยภาพ" เพื่อให้ผู้เรียนเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง? ท่านผู้อ่านคิดเห็นประการใดบ้าง? ช่วยสะท้อนกลับให้ทราบด้วยครับ