พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
“หิว” หมายถึง อยากกิน, อยากดื่ม โดยปริยายหมายถึงอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น หิวเงิน “แสง” หมายถึง ความสว่าง, สิ่งที่ทำให้ดวงตาแลเห็น

“หิวแสง” เป็นศัพท์สแลงที่เกิดขึ้นอย่างน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในโลกโซเชียล ใช้อธิบายถึงพฤติกรรมของบุคคลที่ต้องการเป็นที่สนใจในโลกออนไลน์ ด้วยการสร้างเนื้อหา กระตุ้นอารมณ์ ดึงดูดยอดวิวโดยไม่เลือกวิธีการ ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านลบ

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนที่มีพฤติกรรมไม่ดีแต่กลับได้รับพื้นที่สื่อ ซึ่งคนเหล่านี้อาจกลายเป็นตัวอย่าง หรือก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบสำหรับเยาวชน

แม้พื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แม้จะเป็นคนที่เคยทำไม่ดี อาจพยายามกู้คืนภาพลักษณ์ หรือสร้างภาพลักษณ์ใหม่ โดยหวังว่าการออกสื่อจะช่วยให้คนเปลี่ยนใจ หรืออย่างน้อยเข้าใจเขามากขึ้น แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นหลักก็ตาม

ในขณะที่บางคนอาจมีลักษณะหลงตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรคทางจิตเวชเสมอไป แต่จะมีพฤติกรรมต้องการได้รับความสนใจเสมอ เชื่อว่าตนเองควรเป็นศูนย์กลางของเรื่องราว และเมื่อเกิดกระแสดราม่า ก็จะมองว่านี่คือเวทีในการแสดงตัวตนแทนที่จะหลบซ่อน

หรือในบางคนอาจเข้าข่าย “หิวแสง” อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น ซึ่งอยากให้คนสนใจหรือถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นในแง่บวกหรือแง่ลบ

กระทั่งบางคน การออกสื่อกลายเป็น “กลไกป้องกันตนเอง” แทนที่จะเผชิญหน้ากับความผิดจริง แต่เลือกที่จะเล่าในแบบที่ตนเองต้องการให้สังคมเข้าใจ แม้กระทั่งเล่นบทเหยื่อเพื่อเรียกร้องความเห็นใจ

หรือแม้แต่คนบางคน เมื่อเผชิญกับความรู้สึกผิด ความอับอาย หรือแรงกดดัน แทนที่จะนั่งทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง แต่กลับมองว่าการออกสื่อเป็นการ “คุมสถานการณ์” ได้มากกว่า

ภายใต้โครงสร้างสังคมในโลกโซเชียลที่บิดเบี้ยว ดังที่ได้เห็นในสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ผู้คนบางส่วนชื่นชมผู้กระทำผิดเพียงเพราะหน้าตาหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่หล่อ สวย และดูดี จนนำไปสู่การมีชื่อเสียง มีผู้ติดตาม และสามารถต่อยอดไปสู่การทำมาหากินในรูปแบบต่าง ๆ

สื่อควรให้พื้นที่กับคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และอย่างไรจึงจะเหมาะสม เป็นประเด็นที่น่าคิด ทั้งในกรณีที่บุคคลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกรณีที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สื่อกำลังชี้นำสังคมไปในทิศทางใด คือคำถามสำคัญที่ต้องตระหนัก และผู้บริโภคข่าวสารควร “รู้เท่าทันสื่อ” อยู่เสมอ