ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

ทุกท่านเคยมีความฝันกันไหมครับ ว่าอยากเห็นประเทศไทยของเราเป็นอย่างไร?

ผมเชื่อว่าหลายๆท่านเคยมีความฝันเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาได้เห็นข่าวของบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหารายวัน ในฐานะที่วนเวียนอยู่ในวงการวิชาการและการเมือง ได้มีโอกาสเห็นทั้งปัญหาทั้งด้านการบริหารงานภาครัฐ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การต่างประเทศ และอื่นๆอีกมากมาย ผมเองก็มีความฝันนั้นครับ มีภาพประเทศไทยที่ “อยากเห็น” บทความชิ้นนี้ผมตั้งใจว่าจะทำเป็นซีรีส์จะมีได้สักกี่ตอนก็ต้องมาลุ้นดูกันต่อไป แต่เอาเป็นว่า ผมจะขอแชร์ให้ทุกท่านได้อ่าน ถึง “ความฝัน” ของผมครับ

หากจะไล่ตั้งแต่เกิดจนตาย ผมขอเริ่มฝันตั้งแต่ก่อนคนไทยจะเกิด คือคนไทยรู้สึกปลอดภัย มั่นคง และกล้าที่จะมีลูกหลาน เพราะโลกยุคปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเงินตรา คนไทยไม่น้อยไม่อยากมีลูกเพราะรู้สึกว่าเป็นภาระ รู้สึกว่าไม่มั่นใจว่าจะเลี้ยงดูลูกหลานให้ปลอดภัย มั่นคง และต่อสู้กับโลกอันโหดร้ายได้ นั่นเป็นเพราะเศรษฐกิจสังคม ความมั่นคง ยังไม่ดีพอ จึงเป็นความกังวลว่ามีลูกแล้ว จะเลี้ยงเขาได้หรือไม่ เขาจะมีกิน มีใช้ มีความสุข และเอาตัวรอดในโลกใบใหญ่ได้หรือไม่ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากรัฐที่จะช่วยสร้างสภาวะที่เหมาะสมให้แก่คนในชาติ ไม่ใช่เอะอะก็พูดกันแต่เรื่องสังคมสูงวัย แต่ไม่ได้มีหนทางแก้ไขที่ต้นตอ      

เมื่อตัดสินใจจะมีลูก ผมฝันอยากเห็นคนไทยที่เกิดมาทุกคน มีโอกาสได้เกิดอยู่ในท้องแม่ที่มีความรู้ในการดูแลตัวเองนับตั้งแต่วันแรกที่ตั้งท้อง สามารถเข้าถึงอาหาร ยา และการดูแลต่างๆได้เท่าเทียมกันไม่ว่ารวยหรือจน โดยมีรัฐที่คอยให้สวัสดิการเหล่านี้ เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนา ซึ่งคือ “คน” เพื่อให้คนไทยที่เกิดมาสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ปราศจากโรคและความพิการให้ได้มากที่สุด

เมื่อเกิด ผมฝันอยากเห็นคนไทยที่ลืมตาดูโลกได้รับการดูแลที่ดีทางด้านสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก เข้าถึงอาหารและยา ตลอดจนสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กได้ทั่วถึง ของเล่นที่เสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางกายภาพและสมองต้องไม่ใช่สิ่งของฟุ่มเฟือยราคาแพงที่เข้าถึงได้เฉพาะคนรวย แต่ต้องเป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้เป็นของขวัญแก่เด็กที่เกิดทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน จะเป็นลูกเจ้าสัวหรือลูกแม้ค้าส้มตำก็ต้องได้เล่นเท่าเทียมกัน การพัฒนาทักษะด้านภาษาควรเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆโดยเฉพาะในหกขวบปีแรกของชีวิต เพราะเป็นช่วงเวลาทองของการพัฒนาสมองของมนุษย์ คนไทยต้องพูดได้มากกว่าภาษาไทยเพื่อต่อสู้และคว้าโอกาสให้แก่ตัวเองและชาติในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต ภาษาต้องไม่ใช่ทักษะที่เป็นทางเลือกเหมือนในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการที่หลากหลายซึ่งสามารถสร้างได้โดยกลไกของรัฐให้เป็นสวัสดิการแก่ประชาชน โดยเฉพาะช่องทางออฟไลน์ เช่น ของเล่นเสริมทักษะ หรือหนังสือเสียง แต่ช่องทางออนไลน์ควรจำกัดในระดับหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการสื่อสารของเด็กเล็กที่มาจากการใช้จอซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน

สถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นของราชการ เอกชน หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ควรมีกฎหมายกำหนดให้มีสถานที่ดูแลเด็กภายในองค์กร เพื่อให้พ่อแม่ไม่ต้องกังวลในการทำงานหรือเป็นภาระในการดูแลเมื่อต้องทำงานหาเงิน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานมาฝากได้ในทุกๆวัน ซึ่งจะทำได้ก็ต้องสอดคล้องไปกับการผลิตและบรรจุผู้มีความรู้ในการดูแลเด็กเล็กให้เพิ่มมากขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ในมุมหนึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ ให้คนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

เมื่อเติบโตพอจะเข้าโรงเรียนในวัยแรกเริ่ม ผมฝันเห็นโรงเรียนไทยเป็นระบบสองภาษาเป็นอย่างต่ำทั้งในเมืองและชนบท เป็นโรงเรียนที่ไม่ต้องยัดเยียดความรู้ทางวิชาการมากนัก แต่เน้นทักษะการพูดคุยและภาษาผ่านการเล่นและสังคมที่เป็นมิตร สอนให้รู้จักคิด ต่อยอดความคิด และวิเคราะห์ได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยต้องมีการพัฒนาครูให้เหมาะสมและถูกทิศทาง ครูควรได้รับการฝึกอบรม “วิชาครู” ไม่ใช่แค่วิชาสามัญเท่านั้น แต่ต้องเป็นวิชาครู ที่รู้ทั้งจิตวิทยา เทคนิคการสอน และการสื่อสาร เพื่อให้มีจิตวิญญาณของการเป็นครู ซึ่งอาจทำเป็นระบบการอบรมและการสอบภายหลังจากการเรียนจบสายสามัญ หรือจะเรียกว่าเป็นระบบการผลิตครูแบบใหม่ก็ได้ โดยแบ่งเป็นระดับแตกต่างกัน ระดับอนุบาล ระดับประถม ระดับมัธยม ควรต้องมีทักษะที่แตกต่างกัน ควรมีทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้กลับมาเป็นครูในท้องถิ่นของตน พัฒนาคนรุ่นใหม่ๆต่อไป และจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสม ทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีค่าทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้เป็นครู จะเป็นการเพิ่มคุณภาพให้แก่วงการการศึกษาไทยอย่างมหาศาล

.....

นี่คือ ประเทศไทยในฝันของผม ใน EP ที่ 1 ด้วยพื้นที่จำกัด สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อเรื่องนี้ครับ

หากท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นดีๆเกี่ยวกับประเทศไทยในฝัน ส่งมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ที่ [email protected] ครับ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า

ยังไม่เอวังครับ