ในช่วงที่ผ่านมา “ข่าวดราม่า” ของคนดังในแวดวงบันเทิงทั้งไทยและต่างประเทศ กลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง หรือที่เรียกว่าทอล์กออฟเดอะทาวน์ แม้ข่าวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของคนดังจะเป็นเรื่องที่ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทย แต่ปัจจุบันแนวโน้มการนำเสนอข่าวดราม่าคนดังกลับมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดวิวและการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้หลายครั้งเกิดการขยี้ปมหรือขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลในวงการบันเทิงหรือสังคม จนบางครั้งผู้เสพข่าวอาจละเลยข่าวสารที่มีความจำเป็นหรือสำคัญต่อชีวิตประจำวันไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากกระแสดราม่าคนดังจบลง มักจะทิ้งประเด็นให้น่าคิดไว้เสมอ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจจากเพจ “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา” หรือ นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางจิตเวชศาสตร์ ประจำโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “สภาวะว่างเปล่าหลังเสพดราม่าจบ” โดยระบุว่า “ ในยุคที่ข่าวดราม่า กลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งในแวดวงบันเทิง การเมือง และชีวิตส่วนตัว หลายคนอาจเคยรู้สึก “ว่างเปล่า” เมื่อกระแสดราม่าคนดังจบลง คำถามสำคัญคือ ทำไมถึงเกิดความรู้สึกนี้? และส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพจิตของเรา?

ทำไมเราติดตามข่าวดราม่า?

จากการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้โซเชียลมีเดีย พบว่า 78% ของผู้ใช้งานยอมรับว่าติดตามข่าวดราม่าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง พฤติกรรมการเสพข่าวดราม่าลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเนื้อหาดราม่ามักกระตุ้นอารมณ์และเป็นแหล่งปลดปล่อยความรู้สึก ทั้งความสะใจ สงสาร หรือความโกรธ สมองของมนุษย์มีธรรมชาติที่ต้องการเติมเต็มช่องว่างของข้อมูล ขณะเดียวกัน การพูดคุยและติดตามข่าวดราม่า ยังสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมเดียวกัน

สภาวะว่างเปล่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?

หลังจากกระแสดราม่าผ่านไป หลายคนมักรู้สึกว่า “ชีวิตไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกต่อไป” ซึ่งมักเกิดจาก

ภาวะสมองขาดโดปามีน: ข่าวดราม่าทำให้สมองหลั่งโดปามีน เมื่อเรื่องจบระดับโดปามีนจะลดลงอย่างรวดเร็ว

ความว่างเปล่าทางอารมณ์: การจดจ่อกับเรื่องของผู้อื่นทำให้ละเลยความรู้สึกตนเอง เมื่อดราม่าจบ เรากลับสู่ชีวิตจริงที่อาจดูจืดชืด

จะจัดการกับสภาวะว่างเปล่าหลังเสพข่าวดราม่าอย่างไร?

หันมาใส่ใจตัวเอง: พัฒนาตนเอง เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือฝึกสมาธิ

จำกัดการติดตามข่าวดราม่า: เลือกเสพข่าวเฉพาะที่สำคัญ และจำกัดเวลาอยู่บนโซเชียลมีเดีย

เชื่อมโยงกับสิ่งสำคัญ: ใช้เวลากับครอบครัวหรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์

ฝึกสติ อยู่กับปัจจุบัน: การมีสติช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขในชีวิต”

ดังนั้น เราทุกคนควรหมั่นสำรวจจิตใจของตนเองและเลือกเสพข่าวอย่างมีสติ เพื่อให้ชีวิตสมดุลและไม่ตกเป็นเหยื่อของกระแสข่าวดราม่าที่อาจมีผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว