ท่ามกลางสมรภูมิการเมืองการเมืองที่ขับเคี่ยวและแหลมคม บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกจับจ้องโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีการยื่นตีความกฎหมายและยื่นคำร้องที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมดุลอำนาจทางการเมือง
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 27 ปีของศาลรัฐธรรมนูญ (วันที่ 10 เมษายน 2568) โดยย้ำถึงบทบาทขององค์กรในการเป็นผู้ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง
ต่อคำถามที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญรู้สึกหนักใจหรือไม่ จากข้อกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือในการล้มล้างรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกาศเตรียมยื่นฟ้องเรื่องจริยธรรม หากรัฐสภารับหลักการร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ศ.ดร.นครินทร์ชี้ว่า การที่องค์กรต่างๆ มีข้อขัดแย้งและไม่สามารถคลี่คลายด้วยตนเอง ย่อมต้องพึ่งพาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย เขาย้ำว่าแม้หลายฝ่ายจะพยายามยื่นคำร้อง แต่ศาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่สิทธิของผู้ร้อง และอำนาจในการรับเรื่อง หากไม่เข้าเงื่อนไขก็จะไม่ก้าวล่วง
เมื่อถูกถามย้ำเรื่องความหนักใจในการพิจารณาคดีทางการเมืองที่อาจนำไปสู่การพ้นตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองศ.ดร.นครินทร์กล่าวว่า ความหนักใจเป็นเรื่องปกติ แต่คดีการเมืองเป็นเพียง "งานเสริม" ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหน้าที่หลักคือการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมเปรียบเทียบกับกรณีล่าสุดของเกาหลีใต้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง แม้จะเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กลไกตรวจสอบ
ต่อข้อครหาว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ศ.ดร.นครินทร์ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกฝ่ายต่างช่วงชิงความได้เปรียบ แต่ยืนยันว่าศาลยึดมั่นในกฎหมายและกระบวนการพิจารณาอย่างเคร่งครัด พร้อมยกตัวอย่างคำร้องที่ถูกยื่นเข้ามาในวันที่ 9 เมษายน 2568 ซึ่งสุดท้ายถูกตีตก เนื่องจากไม่เป็นไปตามขั้นตอนและสิทธิ์ของผู้ร้อง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นเวทีสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่กลุ่มอำนาจนอกระบบ ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรอิสระ
ท่ามกลางความท้าทาย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในทุกการวินิจฉัย