จะปฏิเสธชนิดเสียงแข็ง ยังทำได้ยาก เพราะกระแส “ปรับครม.” โชยมาอย่างต่อเนื่อง แม้ “แกนนำ” ในรัฐบาลและโดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” จะบอกว่า “ไม่รู้” แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าไม่มีหรือเป็นไปไม่ได้
แต่ที่ประสานเสียงพูดกันในทิศทางเดียวกัน คือการย้ำว่า “อำนาจ” การปรับครม. นั้นเป็นของ “นายกฯ” ที่ชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งแน่นอนว่า พูดไม่ผิด เพียงแต่อาจจะไม่สามารถขยายความได้ว่า นอกเหนือไปจาก นายกฯอิ๊งค์ แล้ว คนที่มีอิทธิพลเหนือ นายกฯและพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล คือคนที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ทางออกจากความขัดแย้ง ภายใน “รัฐบาลผสม” โดยเฉพาะการที่ พรรคเพื่อไทย ที่แม้จะเป็น แกนนำรัฐบาล แต่กลับไม่ใช่ “คนกำหนดเกม” เมื่อทักษิณ มีอำนาจบงการได้เฉพาะขอบเขต “พรรคเพื่อไทย” ไม่สามารถล้วงลูกไปถึง “พรรคร่วมรัฐบาล” สถานการณ์ที่เห็นและเป็นไป ตลอดมาจึงอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “ประคับประคอง”
ดังนั้นใครที่หวังจะได้เห็น “เพื่อไทย” แตกหักกับ “ภูมิใจไทย” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจต้องผิดหวัง เพราะหากจะให้ “แรงแค้น” นำไปสู่การปรับภูมิใจไทย ออกจากรัฐบาล จะยิ่งเป็นการนับถอยหลังรัฐบาลผสมมากกว่าที่จะมีโอกาส “อยู่ครบเทอม” ไปจนถึงปี 2570
ข่าวการปรับครม. ที่ล่าสุด เพิ่มเงื่อนไขเข้ามาว่า ต้องรอให้ “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2569” ผ่านสภาฯไปก่อน โดยคาดว่า ห้วงเวลาดังกล่าวน่าจะไปอยู่ในราวเดือน ส.ค.-ก.ย. ปลายปี เลยทีเดียว หมายความว่าภาวะที่ต้องอยู่กันไป พร้อมกับคอยระวังหลังกันไปอย่างนี้ อาจยืดเยื้อไปอีกหลายเดือน
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคอื่นๆในรัฐบาล อาจไม่หนักหนาสาหัสเมื่อเทียบกับพรรคภูมิใจไทย อย่าลืมว่าในมือของพรรคภูมิใจไทย ยังมี “สว.สายสีน้ำเงิน” ที่ตั้งท่า รอ “ค้าน” เมื่อร่างกฎหมายสำคัญ ของพรรคเพื่อไทย เข้าสู่ “สภาสูง”
วาระของรัฐบาล ที่เริ่มนับถอยหลังไปพร้อมๆกับภาพที่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายตกอยู่ในวงล้อมทางการเมือง ตั้งแต่วันแรกและอาจยาวไปถึงครบเทอม และโอกาสที่จะพลิกกลับมาตีตื้น ทำแต้ม ผ่านนโยบายเรือธง ก็ยังไม่ได้น้ำ ไม่ได้เนื้อ ไปถึงไหนอีกด้วย ต่างหาก!