ทีมข่าวคิดลึก
เกิดการประสานเสียงกันโดยมิได้นัดหมายระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ ทั้ง "เพื่อไทย" และ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมให้ไฟเขียว เปิดทางให้ พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติหลังจากที่พวกเขาเฝ้ารอคอยด้วยความหวังว่า เมื่อ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ฉบับใหม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์จนมีผลบังคับใช้ อย่างเป็นทางการเมื่อถึงเวลานั้นจะได้มีโอกาสเคลื่อนไหวกันได้เช่นเดิม
"วิรัตน์ กัลยาศิริ" หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับต้องออกมา "ทวงสัญญา"จาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ชนิดไม่มีอ้อมค้อม
"คิดว่าอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยให้สัจวาจาในเวทีนานาชาติว่าจะมีการเลือก ตั้งปี 2560 และโรดแมปจะไม่เลื่อนเพราะฉะนั้นประเด็นการปลดล็อกพรรคการเมืองนั้นก็ต้องอยู่ที่คสช.และคณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาดูถึงความเหมาะสม"
ไม่เพียงแต่ฝ่ายการเมืองจะเรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกเพื่อให้พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ก่อนการเลือกตั้งมาถึงโดยเร็วที่สุดเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองต่างฝากความหวัง ฝากอนาคตทางการเมืองเอาไว้ที่"การเลือกตั้ง" ในครั้งหน้า แทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ แม้จะรู้ดีว่าในการเลือกตั้งรอบหน้านั้น โอกาสจะเปิดกว้างให้"พรรคเล็ก -พรรคใหม่" ได้แจ้งเกิดเพื่อมาเบียดพรรคการเมืองเก่า
ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่เองจากที่เคยยืนหยัดคุมความได้เปรียบ ทั้งกำลังคนและทุนรอนแต่เมื่อมีกฎกติกาใหม่ ต่างพากันร้องโอดครวญว่า กติกาใหม่เช่นนี้ล้วนมีผลกระทบด้วยกันหลายประเด็น
แต่ถึงกระนั้นนักการเมืองย่อมมีความหวัง ฝากเอาไว้ที่การเลือกตั้งทั้งสิ้นเพราะนี่คือหนทางเดียวที่จะทำให้ได้มีโอกาส "หายใจ"และผ่อนคลายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามี"สงครามข่าว" สะพัดอยู่เป็นระยะๆทั้งที่ส่งผลต่อพรรคใหญ่พรรคเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวว่าจะมีการจับมือกันระหว่าง สองพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เพื่อหาทางสู้กับ "พรรคใหม่" ที่จะมาทำหน้าที่เป็น "นอมินี" ให้กับ คสช.
ไปจนถึงการปล่อยข่าวว่าคสช. อาจเลือกที่จะดึงสองพรรคใหญ่ให้เข้าร่วมรัฐบาลในรอบหน้าเพื่อหวังให้ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เข้ามา "คานอำนาจ"กันเอง !
และไม่ว่าสถานการณ์ก่อนและหลังการเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไรแต่เมื่อนี่คือหนทางเพียงประตูบานเดียวที่จะช่วยให้"ฝ่ายการเมือง" พ้นจากการควบคุมของคสช. เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้การดำรงอยู่ของฝ่ายการเมืองวันนี้ จึงไม่ต่างไปจากสภาพการณ์ของคนที่พร้อมจะต่อสู้ ในสนามการเมือง สนามการเลือกตั้งแม้จะรู้ว่า มีความหวังเพียงน้อยนิดที่จะเป็นฝ่าย "ตั้งรัฐบาล" ก็ตามที