วันที่ 20 เมษายนของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ผู้เป็นอัจฉริยบุคคล ซึ่งได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี ในวันที่ 20 เมษายน 2554 วันที่ 20 เมษายน 2568 ครบรอบ 114 ปี
อัจฉริยภาพด้านภาษาและการสื่อสารนั้น เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง หากแต่บทบรรณาธิการ สยามรัฐ ฉบับนี้ ใคร่ขอนำเสนอแง่มุมของการเป็นนักประชาสัมพันธ์ของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ โดยเป็นตอนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยได้ส่ง พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไปชี้แจงกับสื่อมวลชนอเมริกันล่วงหน้า
จากหนังสือพระราชอารมณ์ขัน โดย “วิลาศ มณีวัต” หน้า ที่ 17 -19 สรุปความว่าก่อนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ทางรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้ พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เดินทางไปล่วงหน้า เพื่อปูพื้นสร้างความเข้าใจให้กับบรรดานักข่าวอเมริกัน ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจใคร แม้แต่จอมเผด็จการอย่างครุสชอฟยังต้องเกรงใจเมื่อเผชิญหน้ากับพวกเขา
พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ควรถูกถามถึงเรื่องการเมืองโดยตรง และยังสามารถรับมือกับคำถามเชิงล้อเลียน เช่นเรื่องละครเวที “The King and I” ได้อย่างมีไหวพริบ โดยตอบกลับด้วยอารมณ์ขันว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงรอบรู้ในวิชาดาราศาสตร์และภาษาบาลี มากกว่าหลายคนในที่นั้นเสียอีก
เมื่อถึงวันเสด็จฯ เยือนจริง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสื่อมวลชนอเมริกัน พวกเขาหลีกเลี่ยงคำถามด้านการเมือง และเลือกถามถึงความรู้สึกส่วนพระองค์แทน ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบว่า
“ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่... ที่เมืองบอสตัน”
ประโยคสั้น ๆ แต่ทรงพลังนี้ ทำให้สื่ออเมริกันรู้สึกเชื่อมโยงกับพระองค์ทันที เพราะพระองค์ไม่ใช่ “กษัตริย์ต่างแดน” แต่เป็น “คนบอสตัน” อีกคนหนึ่งที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด
บทบาทของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในภารกิจครั้งนั้น จึงนับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สร้างภาพลักษณ์ที่สง่างามให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในสายตาชาวโลก