วันเลือกตั้งมีทิศทางที่แจ่มชัดว่าจะเคาะเอาวันที่ 24 มี.ค.นี้ หลังจากที่ไม่มีการเลือกตั้ง วันที่ 24 ก.พ.เป็นที่แน่นอนไปแล้ว ทั้งฝ่ายที่จัดการเลือกตั้งอย่าง "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" หรือกกต. และฝ่ายรัฐบาล ต่างออกมาชี้เป้าว่า หากการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.กกต.ก็สามารถทำงานได้ทันตามกรอบเวลา ส่วน "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี สำทับด้วยว่า น่าจะเป็นวันที่เหมาะสมมากที่สุด ! การเลื่อนวันเลือกตั้ง จากเดิม 24 ก.พ.ออกไป และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเคาะวันหย่อนบัตรเป็นวันที่ 24 มี.ค. นั้นนอกจากฝ่ายที่จัดการเลือกตั้งอย่างกกต. ต้องเตรียมการ บริหารจัดการทุกอย่างให้ทันการแล้ว ยังต้องไม่ลืมว่า "ฝ่ายการเมือง" ในฐานะ "ผู้เล่น" ของแต่ละพรรคการเมือง ก็ต้องบริหารจัดการความพร้อม และสรรพกำลังของตนเองด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกันกับที่ ฝ่ายความมั่นคงเอง ทั้งในส่วนของกองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจน งานด้านการข่าว ก็ใช่ว่าจะอยู่ในภาวะนิ่งเฉย เพราะไม่อาจวางใจได้ว่า ระหว่างห้วงเวลาก่อนวันเลือกตั้ง ก่อนถึงวันหย่อนบัตร คือช่วงเวลาที่ต้อง "เฝ้าระวัง" ทั้งสถานการณ์และบรรยากาศ ในบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ มากที่สุด โดยเฉพาะนี่เป็นระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกับ กับงานพระราชพิธี อันสำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปยังฝ่ายคสช. ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่เป็น "ผู้เล่นหลัก" ในภาคสนาม นั้นก็ถึงกระนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องเดินหน้าควบคู่กันไปในลักษณะคู่ขนาน หมายความว่าทุกนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะตอบโจทย์ ตรงใจประชาชน หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ก็จะส่งผลไปยัง "ความนิยม" ของพรรคพลังประชารัฐ ไปด้วยโดยปริยาย มีการคาดการณ์ว่า จากนี้ไปรัฐบาล จะเริ่มทยอยปล่อยนโยบายเพื่อ "ซื้อใจ" ประชาชนในทุกระดับ ไม่เฉพาะระดับผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น จากนั้นพรรคพลังประชารัฐ จะนำไป "ต่อยอด" เพื่อหาเสียงในระดับพื้นที่กันต่อไป ทว่าในอีกด้านมุมหนึ่ง ใช่ว่าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นฝ่าย "ได้แต้ม" จากการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เท่านั้น เนื่องจาก "ความสุ่มเสี่ยง" ที่ระจังหวะซ้ำ อยู่ข้างหน้าก็ยังรออยู่ ! โดยเฉพาะการที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่ต้องการ "คว่ำ" พลังประชารัฐในสนามเลือกตั้ง ต่างรุ้ดีว่า เมื่อใดที่จุดประเด็น "รัฐบาลทหาร" ที่มาจากการรัฐประหาร ขึ้นมาเมื่อใด จะทำให้ ทั้งคสช. รัฐบาล ไปจนถึงตัว "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ในฐานะ "ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ" มีอันต้อง "ออกอาการ" และง่ายต่อการ "เสียรังวัด" ทันที ยิ่งเมื่อ การเคลื่อนไหวของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง"ที่จัดการชุมนุมต่อต้านคสช. คัดค้านการเลื่อนวันเลือกตั้ง กำลัง "ปลุกกระแส" ต่อต้านคสช.และกองทัพ อยู่ที่กรุงเทพฯ กำลังทำผลงาน "เข้าตา" สิ่งต่างๆเหล่านี้ ย่อมเป็นไปได้ทั้ง โอกาส และวิกฤติต่อฝ่ายรัฐบาล-คสช. -พรรคพลังประชารัฐ และโดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งหลายทั้งปวง ก็ขึ้นอยู่กับว่า "ใคร" จะสามารถบริหารจัดการ จนสร้างความได้เปรียบ จากการเลื่อนวันเลือกคั้งได้มากน้อยแค่ไหน ก็เท่านั้นเอง !