ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องที่ร้อนไปทั้งโลกเห็นจะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการขึ้นเพดานภาษีนำเข้าของสหรัฐต่อหลายประเทศทั่วโลก เรียกได้ว่า ทำเอาทุกประเทศปั่นป่วนไปตามๆกัน หลายประเทศพยายามที่จะยื่นข้อเสนอให้แก่สหรัฐ และหลายประเทศก็โดนปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ตัวอย่างเช่น เวียดนาม เพื่อนบ้านของเรา
ในสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่สหรัฐทำเช่นนี้ และยุทธศาสตร์ที่ควรรีบทำ สรุปได้ว่า เรื่องนี้ต้อง “ใจเย็นๆ แต่ต้องไม่ช้า” เพราะยังไม่ถึงขั้นโลกแตก แต่ก็ต้องไม่ช้าที่จะเจรจาเพื่อหาดีลที่ดีกว่า
และแน่นอนครับ บางประเทศเลือกที่จะ “สู้”
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “มังกร” อย่าง “จีน” ที่ตอบโต้สหรัฐด้วยมาตรการภาษีโดนทันที
ทำให้สหรัฐตอบโต้กลับอีกหนึ่งครั้งอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วัน จนขณะที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ทรัมป์ได้ประกาศไปเรียบร้อยแล้วว่า จะขึ้นเพดานภาษีจีน เป็น 125% โดยมีผลทันที
เรียกได้ว่า ณ วินาทีนี้ ไม่ต้องวิเคราะห์กันให้เมื่อยรอยหยักในสมอง “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐ ได้อุบัติขึ้นแล้ว
คำถามต่อมาที่หลายๆคนสงสัยและถามกันมา ก็คือ แล้วจะเป็นยังไงต่อ? งานนี้ใครจะแพ้ใครจะชนะ?
สำหรับคำถามนี้ ผู้เขียนมองว่า น่าจะเป็นการยากที่สหรัฐจะเอาชนะจีนได้เบ็ดเสร็จในสงครามการค้า
สาเหตุประการแรก ต้องอย่าลืมว่า ระบบเศรษฐกิจและการค้าของโลกในปัจจุบันนั้นเป็นระบบที่สหรัฐเป็นผู้กำหนดขึ้นด้วยอิทธิพลทางการเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จีนไม่ได้เป็นผู้กำหนดกติกาเหล่านี้ แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวจนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเองได้ และเติบโตจนมาถึงปัจจุบัน โดยพัฒนาตัวเองจนเกิดความได้เปรียบในระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิต เรื่องความเชี่ยวชาญของแรงงาน เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าจำนวนมากของโลก รวมถึงสินค้าของสหรัฐ “จำเป็น” ที่จะต้องได้รับการผลิตที่จีน โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องอาศัยแรงงานมีฝีมือ เหมือนที่สื่อต่างๆกำลังพูดคุยกันอยู่ในปัจจุบันอย่าง iPhone เป็นต้น
ไอโฟน เป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดีของข้อได้เปรียบของจีนในสงครามการค้าครั้งนี้ อย่าลืมว่าไอโฟนเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกพูดถึง ยังมินับถึงสินค้านับร้อยนับพันของชาวอเมริกันที่ผลิตอยู่ที่จีนในปัจจุบัน การขึ้นเพดานภาษีต่อประเทศทั่วโลกนั้น นอกจาก hidden agenda ทางการเมืองระหว่างประเทศดังที่บอกไปแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว การเอาใจ supporter ชาวอเมริิกันของทรัมป์ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญ ดังนั้น การพยายามจะบีบให้ผู้ผลิตต่างๆย้ายฐานการผลิตกลับมาที่อเมริกาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทรัมป์หมายมั่นปั้นมือ เพื่อเอาใจเหล่าแรงงานที่เป็นฐานเสียง ภายใต้แคมเปญ “เพิ่มงาน” ให้คนอเมริกัน
อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตไม่ใช่เรื่องง่ายชนิดที่คิดปุ๊บทำได้ปั๊บ แต่ม่ีขั้นตอนอะไรอีกมากมาย รวมไปจนถึงการคิดแล้วคิดอีกว่า แรงงานในสหรัฐจะทำได้ไหม ค่าแรงในสหรัฐจะไหวไหม ซึ่งจะนำไปสู่คำถามว่า แล้วสินค้าจะราคาเท่าไร จะขายได้ไหม ยิ่งถ้าคิดว่าจะส่งออก จะออกไปสู้สินค้าจีนที่มีอยู่ล้นโลกได้หรือไม่?
ดังนั้น อันดับแรกที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ หรือการย้ายไม่เกิดขึ้นจริง ภาษี 125% ของสหรัฐอาจจะส่งผลให้สินค้าของอเมริกันเอง ที่ผลิตอยู่ในจีน ราคาสูงขึ้น คนอเมริกันจะต้องแบกภาระนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ผลลัพธ์จะเป็นการกดดันต่อตัวรัฐบาลสหรัฐเองอย่างหนัก
ซึ่งถ้าอ่านเกมแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า จีนอาจจะรู้อยู่เช่นกัน ว่าทรัมป์ขึ้นเพดานภาษีเพื่อต้องการการเจรจาต่อรอง เพื่อผลระโยชน์อย่างอื่น ซึ่งจีนก็อาจมองว่า ตนนั้นได้เปรียบจึงไม่กลัวที่จะสู้โดยการขึ้นเพดานภาษีใส่กัน เพราะรู้ว่าอย่างไรเสียสินค้าของอเมริกาก็ผลิตอยู่ในแผ่นดินของตนมหาศาล และสหรัฐไม่มีทางเปลี่ยนแปลงความจริงนี้ได้ในช่วงข้ามคืน
แต่ก็ต้องบอกว่า หนังเรื่องนี้ เป็นซีรีย์เรื่องยาวครับ ต้องดูกันยาวๆ และอะไรก็เกิดขึ้นได้ บนการเมืองระหว่างประเทศ
ในฐานะพลเมืองโลก เราก็ต้องหวังกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะจบลงด้วยการเป็นแค่สงครามการค้า เพราะในความจริงแล้วโอกาสที่เรื่องนี้จะเลยเถิดกลายเป็นสงครามทางทหารก็มีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะหากทรัมป์ไปเจอกับทางตันในสงครามการค้า การใช้กำลังทางทหารต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งเช่น ไต้หวัน ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่จะรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐไว้ได้ เมื่อนั้น โลกคงร้อนระอุมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
ท่ามกลางความร้อนระอุของการเมืองโลกในวันนี้ ผู้เขียนก็ขอให้สงกรานต์ปีนี้ทำให้คนไทยเราเย็นสบายลง ถือว่าชดเชยกับความร้อนของอุณหภูมิการเมืองนะครับ
ในโอกาสปีใหม่ไทย 2568 นี้ ผู้เขียนก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ประสบแต่ความสุขกายสบายใจ เย็นจิตเย็นใจ คิดสิ่งใดก็สมหวัง มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง พร้อมต่อสู้ไปด้วยกันในปีนี้นะครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขมากๆครับ
สวัสดีปีใหม่ไทย 2568 ครับ