ทวี สุรฤทธิกุล
ฉลองสงกรานต์ปีนี้ด้วยเรื่องเบา ๆ คือถ้าทำได้ แผ่นดินไทยจะน่าอยู่ และ “เบา” ขึ้น
ปัญหาการเมืองไทยนาทีนี้ที่ว่ารุนแรงเป็นอย่างมากปัญหาหนึ่งก็คือ “ความกร่างของมารหน้าเหลี่ยม” ที่ทำตัวใหญ่โตคับบ้านคับเมือง ประหนึ่งว่าข้าจะทำอะไรก็ได้ไม่มีใครใหญ่เกินข้า
ล่าสุดแม้จะทานกระแสสังคมที่ต่อต้านเรื่องบ่อนกาสิโนไม่ได้ จนต้องยอมให้ลูกสาวผู้เป็นนายกรัฐมนตรีเลื่อนการเสนอกฎหมายตั้งบ่อนกาสิโนนั้นออกไป แต่มารหน้าเหลี่ยมก็ยังคงจะมีแผนการอันชั่วร้ายอื่น ๆ อยู่อีกมาก เพราะมนุษย์พรรค์นี้น่าจะเกิดมาเพื่อล้างผลาญคุณธรรมและความดีงามต่าง ๆ โดยเฉพาะ คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตั้งอยู่ด้วยความคิดที่ชั่ว มีจุดมุ่งหมายที่ชั่ว จึงก่อให้เกิดการกระทำที่ชั่วในทุกความคิดเหล่านั้น
เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้มีการเฉลิมฉลองคนไทยคนหนึ่ง ที่องค์การการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESSCO) ยกย่องว่าเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” คือ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ผู้ได้ชื่อว่า “ปราชญ์รัตนโกสินทร์” และ “เสาหลักประชาธิปไตย” เนื่องด้วยความปราดเปรื่องในวิชาการหลาย ๆ แขนงของท่าน และผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “การต่อสู้แบบไทย ๆ” หรือ “คึกฤทธิ์วิทยายุทธ”
ปีนี้ในวันที่ 20 เมษายน อันเป็นวาระคล้ายวันเกิดของท่าน ก็จะมีการเฉลิมฉลองอีกครั้ง โดยปีนี้จะเป็นปีที่พิเศษมาก ๆ เพราะเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีที่ประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาได้ 50 ปี นั่นก็คือใน พ.ศ. 2518 ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นคนที่ตัดสินใจไปจับมือกับเหมาเจ๋อตุง เพื่อยับยั้งภัยคอมมิวนิสต์ที่ยึดครองประเทศเพื่อนบ้านของเราไว้หมดแล้ว ไม่ให้เข้ามายึดประเทศไทย ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยได้พัฒนาประเทศไปอย่างรุดหน้า เพราะไม่ต้องพะวงถึงภัยคุกคามต่าง ๆ อันทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วง พ.ศ. 2522 จนถึง พ.ศ. 2531 ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบ “กึ่งประชาธิปไตย” โดยมีทหารเป็นแกนอำนาจและร่วมใช้อำนาจนั้นกับผู้แทนราษฎร ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และมีพรรคกิจสังคมที่มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค คอยสนับสนุนเป็นแกนหลักของรัฐบาล แม้ว่าจะมีปัญหาระหองระแหงกับพรรคร่วมรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง แต่รัฐสภาในยุคนั้นก็ประคับประคองกันไปได้ ภายใต้ “ความรอมชอมอย่างอดทน” ของ “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู” อันเป็นอีกฉายาหนึ่งของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ยอดจอมยุทธ์” หรือ “ซือแป๋” ผู้มีนิวาสถานอยู่ในบ้านไทยอันมีสวยงามและมีชื่อเสียงที่ซอยสวนพลู เขตสาทร
“ความรอมชอมอย่างอดทน” นี้คือสุดยอดวิทยายุทธ์ของท่าน เพราะในยุคสมัยที่ท่าน “อุ้ม” พลเอกเปรมไว้นั้น มีหลายคนสงสัยว่าท่านยอมทนทำเพื่ออะไร ซึ่งนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งบอกว่า ท่านทำเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อมีปัญหาทางการเมืองในระบอบรัฐสภาก็ต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนตัดสินใจ ให้ระบอบรัฐสภามีความต่อเนื่อง ท่านจึงได้ชื่อว่า “เสาหลักประชาธิปไตย”
แต่ในส่วนตัวของผู้เขียนที่ทำงานเป็นเลขานุการของท่านอยู่ในช่วงนั้น มองลึกลงไปกว่านั้น จนรู้ได้ชัดเจนพอสมควรว่า ท่านต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ไว้ให้มั่นคง ทั้งนี้ผู้ที่จะดูแลพระมหากษัตริย์ได้ดีที่สุดก็คือทหาร เพราะในทางการเมืองนั้นมีการแบ่งแยกขัดแย้งกัน มีแต่กองทัพเท่านั้นที่มีความเป็นปึกแผ่นและเข้มแข็งพอที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์ได้ นั่นก็คือการคงอยู่ของพระมหากษัตริย์คือความคงอยู่ของชาติและประชาชนไทย โดยทหารมีหน้าที่ที่จะพิทักษ์รักษาสถาบันอันสำคัญสูงสุดนี้ไว้
ใครก็ตามที่รักพระมหากษัตริย์ก็ควรที่จะต้องรักทหาร ทหารนี้ไม่ใช้ผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึง “ทหารทั้งหมดทุกกองทัพ”
ในความเป็น “ซือแป๋” อีกอย่างหนึ่งของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็คือ “การจัดการกับสิ่งชั่วร้ายทางการเมือง” โดยเฉพาะคนที่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นภัยคุกคามพระมหากษัตริย์ อย่างเช่นกรณีการต่อสู้กับ “ระบอบปรีดี” ในช่วง พ.ศ. 2489 - 2492 ที่ท่านได้ตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นต่อสู้กับพรรคแนวรัฐธรรมนูญของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สภาพการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ใน พ.ศ. 2489 ยังเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เข้มแข็ง วิธีการที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้ก็คือ “การสร้างมติมหาชน” เพื่อเพิ่มพลังให้กับการต่อสู้ในรัฐสภา
สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียหรือเครื่องมือในการสร้างชุมชนสาธารณะใด ๆ แล้วยิ่งคนไทยมีสภาพ “เฉื่อยชา” ในการแสดงออกทางการเมืองอยู่เป็นนิสัย ไม่ค่อยชอบยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยคิดว่าเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหรือคนที่มีตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น สมัยนั้นมีแต่หนังสือพิมพ์ที่พอจะเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการ “สร้างข่าว” ให้เกิดการรับรู้ในหมู่ประชาชน แล้วให้ประชาชนนั้น “บอกต่อ” หรือกระพือข่าวให้กระจายและเข้มข้นมากขึ้น ที่สุดก็สามารถสร้างกระแสต่อต้าน จนกระทั่งล้มล้าง “เสนียดแผ่นดิน” นั้นออกไปจากแผ่นดินได้ในที่สุด
มีคนร่ำลือกันว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ เพราะท่านมีเพื่อนเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่มาก ตัวท่านเองก็เป็นคอลัมนิสต์มาก่อน ดังนั้นการสร้างกระแสของหนังสือพิมพ์จึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับความสามารถในการอภิปรายของ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เอง ที่มีฝีปากกล้าอยู่หลายคน ได้นำเรื่องภัยคุกคามต่อพระมหากษัตริย์เข้าไปเสนอเป็นญัตติในสภา แล้วก็มีการนำเสนอข่าวการอภิปรายนั้นออกสู่สาธารณะ ที่รวมถึงการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ก็เกิดการตอกย้ำหรือขยายความรู้สึกให้รุนแรงยิ่งขึ้นในหมู่ประชาชน ที่สุดก็โค่นล้ม “คนที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน” ได้
“วิทยายุทธ์ของซือแป๋” อาจจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการโค่นล้ม “มารหน้าเหลี่ยม” ได้ไม่ยาก ยิ่งมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ก็ยิ่งจะสร้างกระแส เพิ่มพลัง และบรรลุความสำเร็จได้ง่าย เพียงแต่ต้องจับตาหาหลักฐานให้ชัด ๆ ว่า เป้าหมายของเราซึ่งก็คือ “มารหน้าเหลี่ยม” นี้ กำลังทำลายสิ่งที่เราเคารพเทิดทูนอยู่หรือไม่ อย่างเช่น การอ้างพระนามมาปกป้องตนเองอยู่บ่อย ๆ หรือ ไม่เคารพในกฎหมาย หรือพยายามที่จะทำร้ายประชาชนของพระเจ้าอยู่หัว ด้วยอบายมุขมอมเมานั้น เป็นต้น
คนอย่างนี้อย่าว่าแต่ไม่ให้ควรอยู่บนแผ่นดินไทยต่อไป แต่บนแผ่นดินใด ๆ ในผืนโลกนี้ก็ไม่ควรให้การต้อนรับ “มารในร่างมนุษย์” คนนี้