ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 ทั้งระบบ โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี รวม 4 แผน รองรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยเริ่มจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ ตุลาคมปีนี้ เป็นต้นไป
นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาประเทศไทยที่มีแผนแม่บทในอนาคตที่ปักธงไว้ให้ประเทศไทย อยู่ดี
กินดี มีความมั่นคง เข้าสู่ประเทศโลกที่ 1 หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว และแน่นอนที่สุดจะ How to อย่างไร หรือมี Action plan อย่างไร แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะต้องถูกกำหนดไว้ให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องนำแผนมาปฏิบัติให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงประชามติกันในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะกำหนดไว้ด้วย มิฉะนั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักจะอ้างนโยบายของพรรคเหนือกว่านโยบายแห่งรัฐ จึงทำให้บ้านเมืองเราตกอยู่ในห้วงเหวของความยากจนมามากกว่า 20 ปี
เป้าหมายหลัก 8 ตัวชี้วัดที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งในอีก 5 ปี ข้างหน้า ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ดูแล้วสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ หากทำได้พอมองเห็นอนาคตของชาติและประชาชนจะเข้าใกล้กับแผนประเทศไทย 4.0 เข้าไปทุกขณะ แต่ยังกังวลต่อไปว่าแผนปฏิบัติที่หน่วยงานของรัฐ ที่รับผิดชอบจะสามารถทำให้แผนนั้นสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างไรเท่านั้น
อาจต้องโฟกัสไปที่เศรษฐกิจรายสาขา เช่นภาคการเกษตร ที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ที่จะทำให้การเติบโตไม่ต่ำกว่า 3% รายได้สุทธิเกษตรกรครัวเรือน 5.94 หมื่นบาท มีพื้นที่เกษตรยั่งยืน 5 ล้านไร่ ตรงนี้คือหัวใจสำคัญที่หน่วยงานเจ้าภาพต้องลงแรงอย่างต่อเนื่อง
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% มีพื้นที่พัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมนิเวศไม่น้อยกว่า 15 พื้นที่ ภาคบริการไม่ต่ำกว่า 6% เฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 3 ล้านล้านบาท สัดส่วนจีดีพีของกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่น้อยกว่า 45%
เฉพาะ 2-3 ภาคนี้เป็นงานหนักที่ต้องใช้นโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายทางการเงิน และนโยบายการพัฒนานวัตกรรมเข้าสู่เป้าหมาย เจ้าภาพคงต้องเป็นเป็นหน่วยงานของรัฐหรือกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยตรงหากเจ้ากระทรวงกลับไปยึดนโยบายประชานิยมควบคู่ไปกับนโยบายพรรค ใช้เจ้าให้ภาพหลงทิศทาง เกรงว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะบิดเบี้ยว ไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมาทั้ง 11 แผนอีก
หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวไปสู่โรดแมปตามที่วางไว้ จะมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคอยติดตามและควบคุมไว้ ก็พอมีโอกาส เพียงแต่จะสามารถควบคุมบทบาทของนักการเมืองในอนาคตให้เข้าลู่เข้าทางได้มากน้อยเพียงใด
ถึงอย่างไรก็ยังเห็นว่าประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีประชาธิปไตย เพื่อชาติ และประชาชน เป็นบริบทของโลกที่เป็นการเติบโตเพื่อประชาชน (Growth for People) จะเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์จากเดิมเกือบสิ้นเชิง