สมบัติ ภู่กาญจน์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงความเห็นนี้ไว้ ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ว่า “คนไทยส่วนมากทุกวันนี้ นับถือพระพุทธศาสนาเพราะบรรพบุรุษนับถือกันมาแต่เก่าก่อน ถึงแม้ว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นจะเป็นศรัทธาอันแท้จริง และความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความเลื่อมใสอย่างจริงใจ แต่เราก็มักจะไม่ค่อยพิจารณาพระพุทธศาสนาด้วยวิธีที่พระพุทธศาสนาสอนให้พิจารณาของอื่น คือ พิจารณาให้มองเห็นแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น เราใช้พระพุทธศาสนาเป็นแว่นขยายให้เห็นความจริงแห่งชีวิต แต่เรามักจะไม่ค่อยหันกลับมาพิจารณาตัวแว่นนั้นเอง ว่าตื้นลึกหนาบางเพียงไร และประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง การไม่หันกลับมามองพระพุทธศาสนา และพิจารณาแยกแยะให้รู้จักกับพระพุทธศาสนาโดยแท้จริงนั้นเอง มักจะเป็นเหตุให้ใช้พระพุทธศาสนาในทางที่ผิดได้อยู่บ่อยๆ และเมื่อใช้ในทางที่ผิดแล้ว บางคนจึงอาจจะคิดไปว่า พระพุทธศาสนาแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ หรือเป็นที่พึ่งแก่ตนไม่ได้ ทำให้ออกห่างศาสนาไป เพราะเอาความผิดอันเกิดจากความไม่รู้ของตนเองไปซัดให้แก่พระพุทธศาสนา เครื่องมือทุกอย่างอันประณีตและให้ผลได้จริงจัง เช่นเครื่องจักรเครื่องยนต์อันทันสมัยนั้น ย่อมจะต้องใช้โดยผู้ที่มีความรู้จึงจะบังเกิดผลฉันใด พระพุทธศาสนาก็ฉันนั้น คนที่จะใช้พระพุทธศาสนาให้เกิดประโยช์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเสียก่อน หากขาดความรู้แล้วก็ย่อมใช้ไม่ได้ประโยชน์ และอาจโยนทิ้งไป เหมือนกับคนที่ขาดความรู้เอาเครื่องมืออันประณีตโยนทิ้งเพราะใช้ไม่เป็น และหันเข้าหาเครื่องมือที่หยาบกว่าและต่ำกว่า....... ขออนุญาตหยุดพักสักนิด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่า ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับความคิดเหล่านี้ไหมครับ? ว่า ทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาเพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเคยนับถือมาก่อน และเราก็ไม่ค่อยจะ ‘พิจารณา’พุทธศาสนาด้วยวิธีที่พุทธศาสนาสอนให้พิจารณาสิ่งต่างๆด้วยการมองให้เห็นถึงแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น ก่อนที่เราจะสรุปหรือตัดสินใจว่าเราควรจะปฏิบัติต่อสิ่งไหนหรือเพียงใด เพราะเราไม่ค่อยมองที่แก่นแท้ของพุทธศาสนาให้มากๆ เราจึงเข้าใจ/หรือใช้พุทธศาสนา ‘ในทางที่ผิด’ได้บ่อยๆไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือสมณะ ศาสนาแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ กลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นมาอีก ความคิดเหล่านี้ ถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วย ผมก็อยากชวนเชิญให้ท่านได้ติดตามความเห็นนี้ต่อไป ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีทรรศนะต่อไป ว่า “ถ้าหากจะถามคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากทุกวันนี้ ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร? ผมเชื่อว่าบางคำตอบจะมีว่าพระพุทธศาสนาก็เหมือนกับศาสนาอื่นๆ ตรงที่มีวัตถุประสงค์ให้คนละความชั่วและประพฤติดีด้วยคำสั่งสอนนานาประการ เมื่อได้ตอบอย่างนี้ผู้ตอบก็อาจจะมีความภูมิใจว่าตนเองเป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวาง มีความเป็นธรรมและปราศจากความริษยาในลัทธิ คำตอบเช่นนี้ จะเรียกว่าผิดก็ไม่ผิด แต่ในความเห็นของผม ผมคิดว่าเป็นคำตอบที่ตีความพระพุทธศาสนาอย่างง่ายดายเกินไป การตีความง่ายดายเช่นนี้ จะส่งผลคือ ทำให้เกิด ความเข้าใจผิดขึ้นว่า พระพุทธศาสนานั้น มีระบบศีลธรรมชั้นเดียว อันใช้ได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเพศสมณะหรือเพศฆราวาส และไม่จำกัดว่าผู้ใช้จะมีภูมิปัญญาขั้นใด ความเข้าใจเช่นนี้ ผมเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดอันสำคัญ และเป็นต้นเหตุแห่งความสับสนในการทำความเข้าใจและในการปฏิบัติอีกนานัปการในการปฏิบัติธรรมทางศาสนา ทำให้ ฆราวาสบางคน หวังเป็นพระอรหันต์ โดยไม่ละการครองเรือนหรือการบริโภคกาม ทำให้สมณะบางรูปแสวงหาวัตถุในทางโลก ด้วยลักษณะหรือวิธีการต่างๆนานา ซึ่งหลายอย่างอาจไม่มีข้อบ่งชี้เป็นความผิดทางศาสนา แต่การที่สมณะจะต้องหลีกเลี่ยงความประพฤติอันเป็น ‘โลกะวัชชะ’ หรือสิ่งที่โลกติเตียน ก็ยังเป็นพฤติกรรมของสมณเพศ ที่พึงปฏิบัติเพื่อส่งเสริมศรัทธาของผู้คนเป็นสำคัญ และ ทำให้คนอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการรู้จักเข้าใจ หรือต้องการการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเกิดความท้อถอยขึ้นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนักกับการแก้ปัญหาในวิถีชีวิตซึ่งตนกำลังดำเนินอยู่ หรือมิฉะนั้นพระพุทธศาสนาในบางแนวทางปฏิบัติ ก็อาจจะสูงเกินปัญญาหรือเกินความสามารถของตนไป” ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ กับสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สิ่งเหล่านี้ หรือสภาพการณ์เหล่านี้ เคยเกิดขึ้นและมีอยู่แล้วในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อ(ไม่น้อยกว่า)สี่สิบปีก่อน แต่ทุกวันนี้สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ ไม่ลดลงจากเดิม หรือาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะคนที่จะคอยเขียน-พูด-หรือเตือนสติ-ในเรื่องราวเหล่านี้ กำลังลดน้อยถอยลงในสังคมไทยในปัจจุบัน เรายังคงขาดการชี้แนะที่ถูกต้องเหมาะสม ว่า การมองพุทธศาสนาให้เห็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาคืออะไร?หรือควรทำอย่างไร? เราขาดทั้งคนคิด- คนทำ- และการปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติ ศาสนาจึงถูกเน้นแค่พิธีการ/เทศกาล/หรือคำสอนอย่างง่ายที่เน้นให้เชื่อมากกว่าให้คิด เพื่อใช้ในการแก้ทุกข์เฉพาะหน้า จนบางครั้งพุทธศาสนากลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ มากกว่าเครื่องมือที่จะก่อให้เกิดความคิด หรือปัญญา แก่ผู้นับถือปฏิบัติ หรือผู้ที่สนใจโดยทั่วไป นความเห็น ที่ได้เขียนไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน ‘อาจารย์คึกฤทธิ์’เขียนเรื่องราวนี้ไว้ โดยเสนอมุมมองว่า คำสอนของพุทธศาสนา เป็น “พระศาสนาสองห้องหรือสองชั้น แต่ละชั้นก็มีธรรมคนละอย่าง ซึ่งตั้งอยู่บนความจริงคนละอย่าง ศีลธรรมคนละอย่าง และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่าง ธรรมทั้งสองในศาสนาพุทธถึงจะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ ก็ยังเป็นธรรมคนละชนิดคนละประเภท ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ซึ่งได้แก่โลกียธรรมและโลกุตรธรรม” ที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน ฯลฯ ความพยายามที่จะทำให้คนไทยมองพระพุทธศาสนาในแก่นที่แท้จริงมากกว่า หรือในมุมมองที่จะก่อให้เกิดปัญญามากกว่า การสอนแต่เรื่องเข้าวัด/ทำบุญ/สวดมนต์/สร้างพระ/สร้างโบสถ์/หรือเข้าคอร์สปฏิบัติเพื่อดับทุกข์หรือหลุดพ้น(ชั่วคราวแล้วก็กลับมาครองเรือนบริโภคกามตามปกติหลังจบคอร์ส) ยังมีอีกสารพันเนื้อหาและสารพัดวิธี ที่คนไทยในอดีต ทั้งสมณะและฆราวาส หลายท่าน เคยพยายามทำไว้ ให้กับสังคมไทย ผมจะรวบรวมมานำเสนอไว้ เพื่อเพิ่ม ‘สติ และปัญญา’ ของเราในช่วงเข้าพรรษานี้ เอาไว้ให้เป็นภูมิคุ้มกันตัวเราเองตามหลักพุทธศาสนาเรื่องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพื่อเผชิญกับโลกวันหน้า ที่จะมีสิ่งวุ่นวายกว่านี้อีกมากครับ