การเลือก “งอ” แทนที่จะ “แตกหัก” จนทำให้ตัวเองต้องย่อยยับ คือทางเลือก ที่รัฐบาล “แพทองธาร 1” เลือกแล้ว ว่าทางออกเช่นนี้คือ ดีที่สุด เนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังรุกไล่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ยามนี้ มีแรงกดดันทั้งภายนอกและ “ภายใน” พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองอย่างเห็นได้ชัด !
8 เม.ย.68 นายกฯแพทองธาร แถลงต่อสื่ออย่างเป็นทางการ ว่าภายหลังจากที่ได้พูดคุยหารือกับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ทั้งหมดแล้ว ต่างเห็นพ้องว่า วันนี้บ้านเมืองมี “เรื่องด่วน” ที่สมควรต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังเหลือวันประชุมอีกเพียง 2 วันก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เหตุตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม รวมถึง กรณีที่สหรัฐฯประกาศนโยบายกำแพงภาษี อันกระทบต่อประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงเห็นว่าควร “เลื่อน” การนำร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เข้าสู่สภาฯออกไปก่อน โดยให้ไปเข้าสภาฯในสมัยประชุมครั้งหน้าแทน และย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการ “เลื่อน” แต่ไม่ได้ “ถอน”
“ ไม่ได้ถอนเรื่องนี้ มันเป็นญัตติด่วน ซึ่งสามารถมีญัตติที่ด่วนกว่านี้ได้ อย่างเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ เป็นเรื่องที่เรามองเรื่องปากท้อง เราไม่ได้มองในเรื่องของกาสิโน ฉะนั้นเรื่องทำความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องนี้เรามองเห็นโอกาสในการจ้างงาน ในการที่ประเทศเราจะโตขึ้น และเกิดการท่องเที่ยวใหม่ๆ แต่พอประเด็นนี้ถูกบิดไปมาในเรื่องของการเมืองก็มีมากเช่นกัน บิดไปบิดมา กลายเป็นว่ารัฐบาลมุ่งเน้น การเปิดการพนัน เปิดสถานที่พนันเสียแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ความตั้งใจนี้เลย”
อย่างไรก็ดี แม้นายกฯแพทองธาร ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการ “ตัดสินใจร่วม” จากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ก่อนการตัดสินใจเช่นนี้ หากมองย้อนไป พรรคเพื่อไทยเอง ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่ได้มีท่าทีว่าจะ “ถอย” บรรดาแกนนำของพรรค ดาหน้าออกมา “สวนกลับ” ฝ่ายต่อต้านกันทุกช็อต
ทว่า เมื่อพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะตัวนายกฯแพทองธาร เองอาจถูกดึงเข้าสู่ “จุดเสี่ยงสูง”หากยังไม่ยอมถอย คือโอกาสที่นายกฯจะต้อง ลาออกหรือยุบสภาฯตามมา เมื่อนำร่างกฎหมายเข้าสภาฯแล้วไม่ได้รับความเห็นชอบ
เท่ากับว่า ไฟวท์บังคับของนายกฯแพทองธาร จึงอยู่ที่ “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ตามที่ “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ออกมาชี้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายทางการเงิน
“โดยธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง หากร่างกฎหมายของครม.ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯในวาระแรก นายกฯจะต้องลาออก เพราะไม่สามารถคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ และกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงิน”
และยังไม่นับรวม การรุกไล่จาก พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่เปิดเกมทั้งซึ่งหน้าและลับลวงพราง ว่า “ไม่เอาด้วย” ยิ่งเมื่อการออกแอคชั่น ของ “สว.สายสีน้ำเงิน” ที่แถลงข่าวประกาศตั้งป้อม จ้อง “คว่ำร่างกฎหมาย” ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ต้องสั่งให้ “ลูก” ถอยอย่างที่เห็น !