“น่าสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวที่ไกลที่สุดในโลกที่ทำให้อาคารที่สูงที่สุดถล่มนับเป็นสถิติโลกครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจนัก”
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวบางช่วงบางตอนในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “สังคายนาระบบเตือนภัย” ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ถึงแม้โอกาสเกิดแผ่นดินไหวจะไม่ถี่นัก (เฉลี่ยทุก 400–500 ปี) แต่กรุงเทพฯ มีลักษณะของ แอ่งดินอ่อนขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ถึง 3–4 เท่า
ทั้งนี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 พบว่าเป็น คลื่นความถี่ต่ำ ที่ไม่ส่งผลมากนักต่ออาคารขนาดเล็ก แต่ อาคารสูงกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากจังหวะการสั่นไหวตรงกับจังหวะการโยกตัวของอาคาร การสำรวจภายหลังพบว่าอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมาอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็น แผ่นดินไหวจากระยะไกลที่สุดในโลกที่ทำให้อาคารสูงสุดถล่ม สร้างสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจในระดับโลก
แม้ประเทศไทยจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวต่ำ แต่ตั้งแต่ปี 2550 ได้มีการกำหนดให้ อาคารสูงในกรุงเทพฯ ต้องออกแบบรองรับแรงสั่นสะเทือน โดยแบ่งพื้นที่ กทม. ออกเป็น 10 เขตเสี่ยง พร้อมตั้งสถานีวัดแรงสั่นไว้ 5 จุด เช่น ที่ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ การออกแบบเน้นให้ โครงสร้างหลัก (เสา-พื้น-คาน) ต้องไม่พังทลาย แม้ส่วนประกอบอื่นอย่างฝ้า ผนัง หรือระบบท่อน้ำจะเสียหายได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.เป็นหนึ่ง เน้นย้ำว่า ต้องตรวจสอบการออกแบบและก่อสร้างจริงอย่างละเอียด เพื่อความมั่นใจว่าสามารถรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนแนวทางรับมือในอนาคต ประเทศไทยควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อศึกษารอยเลื่อนแผ่นดินไหว และเสริมความแข็งแกร่งให้อาคารที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอาคารเรียนในพื้นที่เสี่ยงอย่างจังหวัดเชียงราย ซึ่งใช้งบประมาณเพียง 10–20% ของต้นทุนการก่อสร้างใหม่
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยได้ดำเนินการทดลองติดตั้ง อุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือน บนอาคารสูงในพื้นที่เสี่ยง อาทิ โรงพยาบาลเชียงใหม่และเชียงราย รวมถึงเตรียมทดลองเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลกลาง กรุงเทพฯ โดยอุปกรณ์สามารถประเมินและแจ้งสถานะความปลอดภัยของอาคารภายในเวลาเพียง 5 นาที
เราได้แต่หวังว่าข้อคิดเห็นของ ศ.ดร.เป็นหนึ่งและผู้เชี่ยวชาญต่างๆจะสะท้อนไปถึงผู้เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจในการดำเนินการไปสู่มาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ปล่อยให้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง