เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ถ้า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อย่างที่ไอน์สไตน์ว่า ลองมาจินตนาการเมืองในฝันกันดูสักครั้ง ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วไม่พบว่าเป็นจริง ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะเราก็ฝันกันเป็นประจำอยู่แล้ว

เมืองในอุดมคติไม่ใช่เรื่องของคนช่างฝันหรือนักปรัชญาที่มีเวลาว่างมาก หากแต่นักคิดทั้งหลาย ไม่ว่าตะวันตกหรือตะวันออก ต่างก็เสนอเมืองในฝันกันมาตลอดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ “อุตมรัฐ” (the Republic) ของเพลโต เมื่อ 2,400 ปีก่อน หรือ “ยูโทเปีย” ของโทมัส มอร์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว

จนถึงทุกวันนี้ที่เราต่างก็เห็น “ยุทธศาสตร์” ของหน่วยงาน องค์กร จังหวัด ไปจนถึงประเทศชาติ ในนั้น ส่วนแรก คือ “วิสัยทัศน์” ซึ่งก็คือ vision คำที่ยืมจากภาษาศาสนาที่เรียกว่า “ภาพนิมิต” หรือ “ภาพฝัน” นั่นเอง

นักปรัชญาการเมืองทุกยุคสมัยต่างก็เสนอ “สังคมในฝัน” กันทั้งนั้น ไม่ว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “สังคมนิยม” อย่างจอห์น ล็อค, อดัม สมิธ, ฌัง-ฌัค รุสโซ, คาร์ล มาร์กซ์, วลาดิมีร์ เลนิน และเหมา เจ๋อ ตุง

ที่สะท้อนทางงานวิชาการแบบคัมภีร์ อย่างงานของเพลโต, มอร์, มักเกียเวลลี, สมิธ, มาร์กซ์ หรือแม้แต่นวนิยายเสียดสีเย้ยหยันอย่าง Animal Farm และ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่มองว่า สังคมในฝันของ “คอมมิวนิสต์” ไม่ได้ต่างจาก “สวรรค์วิมาน” ในศาสนาต่างๆ คือเป็นเพียงความฝันเท่านั้น

อย่างไรก็ดี คุณค่าและความหมายของ “เมืองในฝัน” ของนักคิด นักปรัชญา นักการเมือง นักปฏิวัติไม่ใช่ฝ้นเล่นๆ แต่เป็น “อุดมคติ” ที่สร้าง “อุดมการณ์” สร้าง “เป้าประสงค์” (purpose) และเป็น “เป้าหมาย” (goal) ให้เราเดินไปให้ถึง เป็นเป้าหมายและวิถีในเวลาเดียวกัน อย่างที่ “เซน” สอน หรือที่ปัสกาล ปราชญ์ฝรั่งเศสบอกว่า “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน”

บทความนี้อยากพูดถึง “ยูโทเปีย” ของโทมัส มอร์โดยโยงไปถึง “อุตมรัฐ” ของเพลโตบ้างเล็กน้อย เพราะหนังสือของปราชญ์ทั้งสองมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อสังคมโลกจนถึงทุกวันนี้

ยูโทเปีย (Utopia 1516) ของโธมัส มอร์ (1478-1535) เป็นวรรณกรรมเสียดสีทางสังคมและการเมืองที่นำเสนอภาพของสังคมในอุดมคติที่ปกครองด้วยเหตุผล ความเป็นเจ้าของร่วมกัน และจริยธรรมที่เข้มงวด

ชื่อ "Utopia" เองมาจากภาษากรีกที่หมายถึงทั้ง "ไม่มีอยู่จริง" (ou-topos) และ "สถานที่ที่ดี" (eu-topos) ซึ่งสะท้อนความย้อนแย้งและการตั้งคำถามว่าโลกสมบูรณ์แบบจะเป็นไปได้จริงหรือไม่

โธมัส มอร์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่ถูกประหารชีวิตเพราะ “ขัดแย้ง” กับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ท่านเขียนเรื่อง “นครในฝัน” เพื่อวิพากษ์สังคมยุโรป วิจารณ์ความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การยึดที่ดินของประชาชน ระบบราชการที่ทุจริต และบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ

ยูโทเปียเป็นเกาะสมมติที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ทุกสิ่งเป็นของส่วนรวม ที่ผู้คนใช้ชีวิตร่วมกัน ประชาชนทำงานวันละ 6 ชั่วโมง เปลี่ยนอาชีพเป็นระยะ และไม่มีใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนตัว

ยูโทเปียเป็นเกาะที่มีความเสมอภาคและความยุติธรรม  ทรัพย์สินกระจายอย่างเท่าเทียม อาชญากรรมมีน้อย และไม่ต้องมีทนายความเพราะกฎหมายเรียบง่าย มีเสรีภาพทางศาสนา  ศาสนาต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข 

การปกครองเป็นประชาธิปไตย  เจ้าหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง และตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแทนผลประโยชน์ส่วนตัว ให้ความสำคัญกับการศึกษา ปรัชญา และการเรียนรู้ ประชาชนมุ่งพัฒนาปัญญา

  หลายคนเชื่อว่ามอร์ไม่ได้ตั้งใจให้ยูโทเปียเป็นแบบอย่างที่แท้จริง แต่เป็นการสะท้อนทางปรัชญาและการเมืองด้วยเรื่อง “นิยาย”  หนังสือเล่มนี้เชิญชวนให้ผู้อ่านขบคิดเกี่ยวกับการปกครอง ความยุติธรรม และธรรมชาติของมนุษย์ ตั้งคำถามว่าการแบ่งปันทรัพย์สิน การควบคุมทางสังคม และการจัดระเบียบที่มีเหตุผล จะสามารถสร้างโลกที่ดีกว่าได้หรือไม่ หรือกลับเป็นการจำกัดเสรีภาพของปัจเจกชน

โดยสรุป Utopia เป็นการทดลองทางความคิด การลองนำเสนอ ซึ่งไม่ได้ให้ปฏิบัติตามโดยตรง และก็ไม่ใช่แค่จินตนาการล้วนๆ แต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับสังคมของตนเอง และคิดหาทางปฏิรูป แม้ว่าความสมบูรณ์แบบอาจเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึงก็ตาม

ยูโทเปีย (Utopia) ของโทมัส มอร์ และ อุตมรัฐ (The Republic) ของเพลโต ต่างก็เป็นวรรณกรรมที่กล่าวถึงสังคมในอุดมคติ แต่มีจุดมุ่งหมาย โครงสร้าง และรากฐานทางปรัชญาที่แตกต่างกันอย่างมาก

อุตมรัฐ (เขียนในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นงานปรัชญาที่มุ่งค้นหาความหมายของ "ความยุติธรรม" และออกแบบรัฐในอุดมคติ เพลโตเสนอให้สังคมปกครองโดย "ราชาปราชญ์" (Philosopher Kings) ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาสูงสุด โครงสร้างของรัฐมุ่งสร้างความมั่นคงและความเป็นธรรมในสังคม

อุตมรัฐ ปกครองโดย "ราชาปราชญ์" ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาสูงสุด ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกผู้นำ เพราะเพลโตเชื่อว่าผู้ที่มีปัญญาควรเป็นผู้ปกครอง ยูโทเปียปกครองแบบสาธารณรัฐ มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ โครงสร้างอำนาจกระจายออกไป ไม่ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ในอุตมรัฐ สังคมแบ่งเป็น 3 ชนชั้นอย่างชัดเจน ชนชั้นปกครอง คือบรรดาราชาปราชญ์  นักรบ ทำหน้าที่ป้องกันรัฐ และประชาชนทั่วไป เกษตรกร ช่างฝีมือ และพ่อค้า เพลโตเชื่อว่าความยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อทุกคนทุกชนชั้นทำหน้าที่ของตนโดยไม่ก้าวก่ายกัน

ในยูโทเปียมีความเสมอภาค ไม่มีชนชั้น และไม่มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ประชาชนผลัดเปลี่ยนหน้าที่การงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ระบบเศรษฐกิจและทรัพย์สิน ในอุตมรัฐ นักปกครองและนักรบไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน แต่ประชาชนทั่วไปยังสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ระบบเศรษฐกิจถูกควบคุมเพื่อรักษาสมดุล

ในยูโทเปีย ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวเลย เพราะมอร์มองว่าความเป็นเจ้าของนำไปสู่ความโลภและการเอาเปรียบ ทุกคนแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน