ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศการขึ้นเพดานภาษีของประเทศต่างๆ เรียกได้ว่ามาเป็นตารางให้ได้ชมพร้อมๆกันจนกลายเป็นแผ่นดินไหวทางการค้ากันเลยทีเดียว หลายประเทศโดนเยอะ หลายประเทศโดนน้อย แต่รวมๆแล้ว โดนกัน “ถ้วนหน้า” เรียกได้ว่า ไม่ต่างอะไรกับการประกาศสงครามการค้าไปยังแทบทุกประเทศ เรามาวิเคราะห์ประเด็นนี้รวมถึงสิ่งที่ไทยควรทำกันครับ
สหรัฐทำการขึ้นภาษีพื้นฐาน 10% กับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าไปยังสหรัฐและเพิ่มเติมสำหรับประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไปตามอัตราการเกินดุลการค้ากับสหรัฐนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศในเอเชียจะได้รับผลกระทบ เพราะโดยมากมักได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯและยังเคยได้รับความช่วยเหลือทางการค้าจากสหรัฐมาก่อน ถ้ามองในอาเซียนของเรา ไล่เลียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ กัมพูชา โดนไป 49% ลาว 48% เมียนมา 44% เวียดนาม 45% ไทย 37% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% บรูไน 24% ฟิลิปปินส์ 17% และ สิงคโปร์ 10%
เมื่อวิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า นี่ไม่ใช่การโยนระเบิดในทางการค้าเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เป็น hidden agenda ที่ซ่อนอยู่น่าจะเป็นการ “จัดแถว” ทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือจะเรียกว่า การจัดระเบียบโลกใหม่ ของสหรัฐก็เป็นได้
เพราะการโยนระเบิดภาษีในครั้งนี้นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็น “สเตปแรก” ที่สร้างความตื่นตระหนกไปยังประเทศต่างๆ เพื่อลากประเทศต่างๆเข้าสู่การเจรจา พูดง่ายๆว่า ณ ตอนนี้ สหรัฐเปิดสายรอให้โทรหา และพร้อมเจรจากับทุกประเทศ
ทำไมจึงคิดเช่นนั้น?
เพราะการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีของทุกประเทศเช่นนี้ หากมีการบังคับใช้จริง คนที่จะเดือดร้อนหนักที่สุดจะไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นพลเมืองสหรัฐนั่นเอง ที่จะต้องแบกภาระราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น เพราะอย่าลืมว่า สิ่งที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆนั้น สหรัฐผลิตเองในประเทศได้อย่างจำกัด การขึ้นภาษีพร้อมๆกันกับทุกประเทศ จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า “นำเข้าจากใคร ก็แพงขึ้นทั้งหมด” เพราะสินค้าที่จะทดแทนกันได้ก็ถูกขึ้นภาษีเหมือนกันหมด
ยกตัวอย่างเช่น หากขึ้นเพดานภาษีนำเข้าสินค้า A จากประเทศไทย สินค้า A จากประเทศไทยอาจจะมีราคาสูงขึ้นในสหรัฐ โดยทั่วไปวิธีที่ง่ายที่สุด ผู้นำเข้าจะหาสินค้าทดแทนโดยไปนำเข้าสินค้า A จากประเทศอื่น (สมมติว่าประเทศ ก.) นี่คือจุดที่จะทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาซึ่งก็คือปัญหาการขายของไม่ได้นั่นเอง แต่ถ้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า A จากทั้งประเทศไทยและประเทศ ก. พร้อมๆกัน ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องเจอกับภาษีไม่ว่าจะนำเข้าจากไทยหรือประเทศ ก. เช่นนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนมีเพดานภาษีสูงกว่ากัน ถ้าไม่ต่างกัน ทางเลือกของผู้นำเข้าก็จะน้อยลง และความซวยอาจไปตกอยู่กับผู้บริโภคชาวอเมริกันนั่นเอง
นี่เป็นเหตุผลที่ผู้เขียนมองว่า ที่ประกาศมานี้ ยังไม่ Final แต่เป็นการประกาศเพื่อเปิดโต๊ะเจรจา
สอดคล้องกับ สก็อตต์ เบสเซนต์ รมว.การคลังสหรัฐ ที่บอกว่า “เป็นผมจะไม่พยายามตอบโต้...ตราบใดที่คุณไม่ตอบโต้ นี่คือตัวเลขสูงสุด” นั่นหมายความว่า นี่คือสูงสุด แต่ต่ำลงกว่านี้ได้ หากคุณเจรจา และเราเปิดประตูอยู่นะจ้ะ
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ควรทำในตอนนี้ คือ “ความเร็ว” ที่แต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยต้องรีบเจรจา ยื่นหมูยื่นแมว เพื่อให้ลดเพดานภาษีเหล่านี้ลง ซึ่งนี่น่าจะเป็นสเตปที่สองที่สหรัฐต้องการ คือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทั้งทางการค้าและเลยไปจนถึงทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจมองได้ว่า นี่คือการ “จัดแถว” ใหม่ และแน่นอนว่าผลประโยชน์ของสหรัฐจะเป็นใจความสำคัญของการเจรจา ถ้าให้สหรัฐได้มากจนพอใจ ก็เท่ากับว่าเป็นพรรคเป็นพวกกัน เพดานภาษีก็เป็นเรื่องเล็ก
เหตุที่ต้องเร็ว เพราะถ้าสหรัฐไปเจรจาได้ดีลที่ดีกับประเทศอื่นๆแล้ว การเจรจาของเราจะยากลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่ามันมีเรื่องของสินค้าที่ทดแทนกันได้ด้วยนั่นเอง ถ้าประเทศ ก. เจรจาเร็ว ปรากฏว่า สินค้า A ของประเทศ ก. ไม่มีภาษีนำเข้า เมื่อนั้น สินค้า A ของไทยก็จะพบกับหายนะ
ดังนั้น ตอนนี้ต้องบอกว่า “ใจเย็นๆ แต่ ช้าไม่ได้” เพราะยังไม่ได้โลกจะแตกอย่างที่สื่อหลายสำนักประโคมกัน แต่ก็ต้องรีบ ไม่งั้นจะเจองานหนักอย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ
สำหรับการเจรจานั้น ถ้าจะให้เสนอแนะ จังหวะนี้ต้องมองหลายๆมุมครับ บางเรื่องอาจเป็นประโยชน์ เช่น ถ้าอเมริกาอยากให้ซื้อของเขามากขึ้น ไม่แน่นี่อาจเป็นจุดที่ใช้เจรจาเพื่อซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐที่ปกติแล้วไม่ค่อยยอมขาย หรือเจรจาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐและไทยได้ด้วย เช่นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์หรืออวกาศ รวมไปจนถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศจากประเทศผู้ผลิตสินค้า (ของชาติอื่น) แล้วส่งออก ไปสู่การโฟกัส “สินค้าไทยที่แท้จริง” ตามความต้องการของตลาดสหรัฐ เพราะอย่าลืมว่าไอ้ที่สิ่งออกกันอยู่ทุกวัน (ที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากเพดานภาษี) จริงๆแล้วเป็นสินค้าที่ไทยผลิตและประกอบในฐาน “โรงงาน” เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ “เจ้าของ” ที่แท้จริง
อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะปรับทัพใหม่ เปลี่ยนจากการมองในมุม “ตัวเลขการส่งออก” ไปสู่มุมของ “การผลิตของชาติที่แท้จริง”
แต่สุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นจุดจบของ “โลกาภิวัตน์” อย่างที่นายกสิงคโปร์ว่าไว้จริงๆก็เป็นได้ เพราะไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นจากโลกการค้าเสรีที่สหรัฐฯเพียรสร้างมาหลายทศวรรษอย่างแน่นอน
เอาใจช่วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนครับ อย่าลืมนะครับ งานนี้ “ต้องไว”
เอวัง