ก่อนปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ  ในวันที่ 10 เม.ย.68 นี้ดูเหมือนว่า สภาฯกำลังจะกลายเป็น สนามรบ ขนาดย่อมๆ ไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก !

 ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 9 เม.ย. นี้ มีการบรรจุระเบียบวาระเรื่องที่ประชุมสภาฯเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน คือร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. โดย ณ ขณะนี้ยังพบว่ามีความเคลื่อนไหวจาก ฝ่ายค้าน ที่ต้องการให้ที่ประชุมสภาฯ นำเรื่องที่เห็นว่า ด่วน มากกว่านั่นคือปัญหาที่ไทยจะได้รับผลกระทบจาก นโยบายกำแพงภาษี  ของสหรัฐฯ ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36 % 

 เท่ากับว่า วาระในช่วงครึ่งวันแรก ยังต้องลุ้นว่า จะมีรายการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ฝ่ายค้าน จะงัดง้าง ชงเรื่องกำแพงภาษี ของ ทรัมป์ ที่กระทบกันหลายสิบประเทศ รวมถึงไทย ฝ่าด่าน พรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้สภาฯรับหลักการในวาระแรก ต่อร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ได้สำเร็จหรือไม่ 
 
 และในวันเดียวกัน ยังมีระเบียบวาระการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวการนิรโทษกรรมด้วยกัน 4 ฉบับ ที่เข้าคิวรอ ได้แก่  ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย วิชัย สุดสวาสดิ์ กับคณะพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้เสนอ  2. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. เสนอโดย ปรีดา บุญเพลิง  กับคณะ เป็นผู้เสนอ

     3.  ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. เสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน กับคณะซึ่งเป็นพรรคก้าวไกลเดิม เป็นผู้เสนอ และ4. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. เสนอโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ  กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน เป็นผู้เสนอ

 การนำร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม มาบรรจุในวาระ  กำลังถูกมองว่าเป็นความเร่งด่วนที่ต้องการนำมาเป็นใช้แรงกดดันทางการเมือง จากฝ่ายรัฐบาล ต่อ ฝ่ายค้าน เพราะอย่าลืมว่า ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือร่างของฉบับพรรคก้าวไกลเดิมที่ต้องการให้นิรโทษกรรม คดี ม.112 ซึ่งแน่นอนว่า พรรคร่วมรัฐบาล แทบทั้งหมด ไม่มีใครเอาด้วย  แต่อย่าลืมว่า เสียงของสส.พรรคประชาชน ซึ่งมีเป็นอันดับ2 ในสภาฯ ล่าง ย่อมมีความหมายเช่นกัน หากรัฐบาลต้องการให้ ร่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯในวาระแรก 

    
 ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า ในการประชุมสภาฯนัดก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 9-10 เม.ย.68 จึงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ ซับซ้อน กันมากกว่าระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ ฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน 
    
 เพราะเมื่อล่าสุดมีข่าวที่สะพัด ว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกแรง บีบ ไปยัง แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้โหวตรับร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์  จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สรวงศ์ เทียนทอง ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง 

 สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความเคลื่อนไหว ก่อนวันพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของพรรคเพื่อไทย คือ แรงกระเพื่อม ที่เกิดขึ้นภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เพราะไม่ว่าจะจริงหรือไม่ แต่คนชื่อ ทักษิณ เสียรังวัดไปแล้ว !