ทวี สุรฤทธิกุล

“ความไม่น่าไว้ใจ” คือการอภิปรายที่ผิดวัตถุประสงค์ เพราะของสภาไทยนั้นมุ่งตรงเป็นเรื่อง “เกมส์การละคร” ซึ่งเซาะกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตยของประเทศนี้มาโดยตลอด

ดังที่ได้เล่าความมาในสัปดาห์ก่อนแล้วว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็น “วัฒนธรรมทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นในประชาธิปไตยของประเทศอังกฤษตั้งแต่ 800 กว่าปีมาแล้ว คือเกิดจากวัฒนธรรมของพวก “อัศวิน” ที่มาอาสารับใช้ประชาชนทำงานถ่วงดุลกับกษัตริย์จนเกิดระบบรัฐสภาขึ้น โดยมีสองสภาคือ สภาขุนนางกับสภาผู้แทนราษฎร (House of Lords กับ House of Commons ซึ่ง Commons น่าจะตรงกับคำว่า “ไพร่” ของไทยมากกว่า) พวกอัศวินนี้ชอบแข่งขันและ “รักษาความยุติธรรม” จึงเกิดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลขึ้นในรัฐสภาและรัฐบาล คือเกิดฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านขึ้นก่อน โดยฝ่านค้านมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือการตรวจสอบรัฐบาล และการตรวจสอบที่สำคัญก็คือการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยการใช้กติกาแบบพวกอัศวิน ซึ่งก็คือการแข่งขันบนระบบ “น้ำใจนักกีฬา” (Sportsmanship) วัตถุประสงค์ของการต่อสู้แบบนี้เน้นการ “ตักเตือนและแนะนำ” ไม่เอาแพ้ชนะแบบฆ่ากันจนตายหรือต้อนให้จนตรอก แต่เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุง หรือถ้าทำไม่ได้ก็ให้ลาออกไป ให้ฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลแทน หรือไม่นายกรัฐมนตรีก็ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่และให้ประชาชนตัดสินใจใหม่

ดังเป็นที่ทราบกันว่า ระบบรัฐสภาของไทย “ลอกแบบ” มาจากของอังกฤษ แต่ตามข้อมูลที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตลอดมาหลายสมัยของรัฐสภานั้น ไม่ได้เป็นไปด้วยระบบการแข่งขัน หรือ “น้ำใจนักกีฬา” แต่เป็นระบบที่มีการมุ่งหวัง “เอาเป็นเอาตาย” หรือ “ล่าล้างแค้น” ไม่จบสิ้น แถมรัฐบาลนั้นก็ “ด้านทน” ไม่ยอมรับความจริง เมื่อผิดหรือไม่แก้ไขปรับปรุงก็ไม่รับผิดชอบอะไร ยังคงอยู่เป็นนรัฐบาลต่อไป และรอการอภิปรายในรอบใหม่ ซึ่งก็เตรียมรบปรบมือเหมือนจะทำสงครามให้วายวอดกันไปข้าง

ทว่าท่าทีที่เราเห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น มันก็ไม่ได้เป็นภาพจริง แต่เป็น “การแสดงละคร” เพื่อสร้างภาพ หรือ “หาเสียง” ให้กับแต่ละฝ่ายนั้นมากกว่า และยิ่งในสมัยนี้ที่มีสื่อต่าง ๆ มากมาย นักการเมืองทั้งสองฝ่ายนี้ก็ไม่ใช่แค่หาเสียง แต่ยัง “หาแสง” คืออาศัยอีเว้นต์ต่าง ๆ ทางการเมืองเพื่อความเด่นดัง และให้ได้ “ออกสื่อ” ไปยังกลุ่มแฟน ๆ กับประชาชนทั้งหลายนั้นอีกด้วย

อย่างเช่นเรื่องการโอนขายหุ้นทิพย์ของนายกรัฐมนตรีด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ฝ่ายค้านควรจะต้องรีบเร่งดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดนายกรัฐมนตรีนั้นต่อไป เพราะตามรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีหลักฐานว่าผู้ถูกอภิปรายมีการกระทำผิด ก็ควรที่จะต้องดำเนินการส่งข้อมูลนั้นไปยัง ปปช. หรือศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจัดการเอาไปลงโทษต่อไป แต่นี่สามสัปดาห์ผ่านไปเรื่องก็ไม่ไปถึงไหน ฝ่ายค้านก็ไม่เคลื่อนไหวหรือดำเนินการอะไรต่อไปในเรื่องนี้ จนถึงกับมีข่าวร่ำลือถึง “ดีล” ต่าง ๆ ซึ่งก็คือการตกลงที่กันหลังฉากไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะเข้ามาร่วมกันเป็นรัฐบาลได้อีก ซึ่งถ้าเป็นจริงก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายและ “ทุเร..” สำหรับฝ่ายค้าน (เพราะฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีนั้นถูกฝ่ายค้านอภิปรายจนเสียหายเละเทะเกินกว่าขั้น “ทุเ..” นั้นไปแล้ว)

อ้อ แล้วที่คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้ทำจดหมายขอให้อธิบดีกรมสรรพากรตอบเรื่องการขายโอนหุ้นของนายกรัฐมนตรีนั้น หลายคนก็เชื่อว่าอธิบดีก็คงไม่ตอบหรือหาวิธีหลบเลี่ยงไม่ตอบ รวมถึงที่คุณวิโรจน์เองก็คงจะไม่ได้ติดตามเรื่องและไล่ล่าฟาดฟันนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ต่อไป โดยยกเป็นความผิดด้วยความล่าช้าหรือไม่ร่วมมือฝ่ายข้าราชการประจำ ที่สุดเรื่องนี้ก็จะหายไป แต่คุณวิโรจน์ได้ “โล่” หรือความโด่งดังจากเรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งลีลาของการเล่นการเมืองแบบนี้คือ “ภาพซ้ำ” ของนักการเมืองแบบน้ำเน่าที่ยังคงเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเน่าเหม็นหมักหมม ก่อความน่าเบื่อรำคาญแก่ประชาชน ซ้ำร้ายอาจจะมี “เชื้อโรค” เป็นภัยลุกลามทำลายสังคมได้

ภัยลุกลามนี้ก็คือ “ความไม่น่าไว้ใจ” ที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง

ประการแรก การอภิปรายแบบ “ตบหัวแล้วลืมหลัง” นี้ คือการเล่นละครอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนมองการเมืองในแง่ร้าย ไร้ประโยชน์ เพราะไม่สามารถจัดการเอาผิดใครได้ (ความจริง ส.ส.ฝ่ายค้านอีกหลายคนก็อภิปรายดี แต่ก็ไม่เห็นว่าจะดำเนินการเอาผิดอะไรนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ ทั้งยังดูเงียบไป ไม่เคลื่อนไหวติดตามหรือทำงานนี้ต่อ)

ประการต่อมา ถ้าการเล่นละครระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลนั้นมีจริง ก็ยิ่งจะทำให้คนไทย “สิ้นหวัง” ต่อการเมืองไทย ว่าคงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีฝ่ายค้านแบบนี้ ซึ่งระบบรัฐสภาแบบอังกฤษที่เราลอกแบบเขามานั้นมีฝ่ายค้านไว้เพื่อ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” กับรัฐบาล ที่สำคัญคือ “รักษาความยุติธรรม” ให้กับประชาชน ซึ่งเลือกเขาเหล่านั้นเข้าไปทำงานให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

อีกประการหนึ่ง ระบบรัฐสภาของไทยคงสิ้นหวัง ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถเกิดขึ้นในประเทศนี้ จะมีก็แต่ระบบ “ไพร่” ที่ผู้มีอำนาจก็ยังคงมีบทบาทไปตามลำพัง โดยยังคงแสดงความมีอำนาจบาตรใหญ่ แบบที่ไม่ฟังเสียงประชาชน แม้แต่ฝ่ายค้านที่เป็นเสียงให้กับประชาชนอีกฟากฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถทำอะไรกับผู้มีอำนาจที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลนั้นได้ คนไทยจึงคงเป็นเพียง “ไพร่” ที่อยู่ใต้อุ้งเท้าของพวกผู้มีอิทธิพลทางการเมืองทั้งหลายนั้น

สมัยหนึ่งคนไทยเคยมีปัญหากับทหาร จนถึงขั้นเดินขบวนขับไล่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แต่ต่อมามีคนทั้งที่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจ ไปเกาะแข้งเกาะขาทหาร เอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ไปแลก จนสามารถเกาะกลุ่มขึ้นมาเป็น “อำมาตย์” ได้หลายคน จนกระทั่งหลังพฤษภาทมิฬ 2535 คนกลุ่มนี้ก็คิดว่าคุมทหารได้แล้ว ดังที่เกิดความเหิมเกริมในยุค “นายกฯหน้าเหลี่ยม” แต่ทหารก็มี “พลังพิเศษ” จัดการกับทรราชคนนั้นไป แต่ก็ไม่ได้กำจัดไปได้อย่างสิ้นรากหมดพันธุ์ กระทั่งได้กลายเป็น “สงครามล้างตระกูล” ที่คนตระกูลนั้นฝังใจแค้นไม่จบ ยิ่งมายุคนี้ที่มีพรรคการเมืองบางพรรคก็ร่วมแค้นสถาบันสูงสุดนั้นด้วย ก็คงทำให้ประเทศไทยยังคงมืดมนไปในระบอบ “ประชาธิปไตยปลอม ๆ” นี้ต่อไป

ระวังไว้แล้วกัน “อย่าได้วางใจ” เพราะถ้าแดงจับมือกับส้มเมื่อไหร่ ประเทศไทยคงพังตั้งแต่ “ยอดเขาพระสุเมรุ” ลงไปถึง “ก้นเมืองบาดาล” นั่นเลยแน่ ๆ